ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,900 ราย ประกอบด้วย
– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 14,475 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 135 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 98 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 192 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 7,687 ราย
– เสียชีวิต 26 ราย เป็นเพศชาย 10 ราย เพศหญิง 16 ราย อายุเฉลี่ย 80 ปี (อายุระหว่าง 45-99 ปี) แยกเป็น อายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย คิดเป็น 92% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 2 ราย คิดเป็น 8%
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 2,608,227 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 9,810 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 22,462 ราย
จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 2,892 ราย, สมุทรปราการ 888 ราย, นนทบุรี 611 ราย, ชลบุรี 590 ราย, นครราชสีมา 567 ราย, ภูเก็ต 486 ราย, นครศรีธรรมราช 434 ราย, ราชบุรี 324 ราย, บุรีรัมย์ 317 ราย และ นครปฐม 303 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 412,171,667 ราย เสียชีวิต 5,834,095 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา 79,325,576 ราย อันดับ 2 อินเดีย 42,664,712 ราย อันดับ 3 บราซิล 27,483,031 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 21,708,827 ราย และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร 18,306,859 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 31
พญ.อภิสมัย ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ทิศทางผู้ติดเชื้อฝั่งอเมริกาและยุโรปถือว่าลดลง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทางฝั่งเอเชียกลับมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวและมาตรการผ่อนคลายยังมีความจำเป็น เพราะจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมโรคและต้องทำอย่างเหมาะสมและสมดุล
ทั้งนี้ หากจะมีการผ่อนคลายเร็วเกินไป ทางกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำ คงไม่สามารถยึดแนวทางประเทศใดประเทศหนึ่งได้ แต่ยึดตามข้อมูลภายในประเทศเป็นหลัก
ขณะที่ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมามีจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต นครราชสีมา ราชบุรี สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช นครปฐม และยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีทิศทางผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทั้งขอนแก่น เชียงใหม่ ปทุมธานี มหาสารคาม ระยอง ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สระบุรี และเพชรบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่กระทรวงสาธารณสุขมีการรายงานว่า จำเป็นต้องเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า คลัสเตอร์ที่สำคัญ ยังอยู่ที่ร้านอาหารที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อำนาจเจริญ สุพรรณบุรี ร้อยเอ็ด, ในตลาด พบที่ นครราชสีมา อุบลราชธานี น่าน ซึ่งบางตลาดเคยติด และปิดไปแล้ว มีการติดซ้ำอีก, ในโรงงานสถานประกอบการ พบที่ขอนแก่น ปราจีนบุรี นครราชสีมา ชลบุรี ราชบุรี, งานพิธีกรรม งานศพ ที่ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี นครราชสีมา มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน สุโขทัย
สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อในกทม. พบว่า มี 2 คลัสเตอร์ที่น่าเป็นห่วงซึ่งมีผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย ได้แก่ ราชเทวี และป้อมปราบศัตรูพ่าย และมีอีก 9 เขตที่มีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 100 รายแต่เกิน 60 ราย ได้แก่ หนองแขม ห้วยขวาง บางพลัด บางแค หลักสี่ ดอนเมือง ดุสิต สะพานสูง จตุจักร และพบคลัสเตอร์ในโรงเรียน 13 โรงเรียน ซึ่งมีทั้งโรงเรียนเด็กเล็ก อนุบาลและมัธยม รวมทั้งโรงเรียนประจำ ซึ่งส่วนใหญ่พบนักเรียนติดเชื้อจากในครอบครัว และมาแพร่เชื้อในโรงเรียน รวมถึงมีจุดสัมผัสร่วมต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ทางกทม.ได้รายงานว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่ศักยภาพในการรองรับผู้ติดเชื้อยังเพียงพออยู่ที่ระดับ 40% ซึ่งมีคนเข้าระบบ Home Isolation 10,940 ราย และอยู่ในระบบแยกกักในชุมชน 27 แห่ง มีคนเข้ารักษาทั้งสิ้น 1,144 ราย แต่สิ่งสำคัญเน้นย้ำให้ประชาชนเร่งฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ลดความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงได้ และเมื่อเราจำเป็นต้องมีการผ่อนคลาย เปิดกิจการ กิจกรรมต่างๆและเปิดประเทศ เน้นย้ำประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, ศบค., โควิด-19