นายกอบศักดิ์ ภู่ตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในงานสัมมนา “Economic and Investment Outlook 2022” ในหัวข้อปาฐกถา “ภาพรวมเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศไทย”ว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีติดต่อกัน โดยเศรษฐกิจโลกเห็นการฟื้นตัวในปี 64 โต 6% และปี 65 ที่โต 4.4% ซึ่งประเทศพัฒนาฟื้นตัวก่อน ส่วนประเทศแถบอาเซียนคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในปี 65-66 คาดว่าโต 5.6% และ 6% ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 64 น่าจะเติบโตราว 1% และในปี 65 เบื้องต้นคาดว่าจะเติบโตได้ 3-4%
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงไปมากแล้วในปัจจุลบัน หลังจากเกิดการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 63 ขณะนี้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้นจากหลังจากทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วราว 63% ของจำนวนประชากรโลก ส่งผลให้มีความเชื่อมั่นในการกลับมาใช้ชีวิตปกติ และส่งให้เกิดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจตามมา โดยเฉพาะประชากรในประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รวมกันแล้วมีการฉีดไวัคซีนถึง 70-80% ดังนั้น จึงทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว
ขณะที่ประเทศไทยก็สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรได้แล้วถึง 117 ล้านเข็ม โดยฉีดครบ 2 เข็มไปแล้วถึง 49 ล้านคนหรือคิดเป็น 74%ของประชากร และเมื่อรวมเด็ก 0-12 ขวบอีก 9 ล้านคนก็จะเท่ากับ 88% ทำให้คนไทยจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น และหากอนาคตมีการระบาดโควิดสายพันธุ์ใหม่ก็น่าจะทำให้ป่วยน้อยหรือไม่เสียชีวิต
สำหรับเศรษฐกิจไทยก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกันหลังโควิด เห็นได้ชัดการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ภาคการผลิตก็เพิ่มขึ้น ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ทำให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก คงต้องรอให้การท่องเที่ยวฟื้นขึ้นก่อน ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติโควิดอัตราเข้าพักโรงแรมสูงถึ 80% และตกลงมา 0% ในช่วงโควิดระบาดหนัก แม้ปลายปี 63 จะดีขึ้นมาที่ 35% แต่เมื่อมีการระบาดระลอก 2 ก็ทำให้อัตราเข้าพักตกลงต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 65 ที่รัฐบาลใช้มาตรการ Test&Go เกิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้อัตราเข้าพักเพิ่มขึ้นเป็น 38% ถือว่าสูงสุดในรอบ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งรุนแรงทำให้โลกเปลี่ยนไป มีความต้องการสินค้ามากขึ้นหลังหยุดสต็อกสินค้ามานานในช่วงการระบาด ทำให้เกิดภาวะอุปทานขาดแคลน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกที่จะเห็นเงินเฟ้อสูงขึ้นในหลายประเทศ เพราะฐานปีก่อนค่อนข้างต่ำ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ โดยคาดว่าในปี 65 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้ง ทำให้ตลาดทุนมีความผันผวนมากขึ้น
นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ความท้าทายหลังโควิดจะมีความผันผวนเกิดขึ้นที่มาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปสู่ดิจิทัล ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน ความขัดแย้งเชิงพื้นที่ของโลก เช่น ยูเครนกับรัสเซีย เกาหลีเหนือ และความผันผวนในตลาดการเงิน หลังจากเศรษฐกิจฟื้น ธนาคารกลางก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและถอนสภาพคล่องออกจากตลาด
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนประเทศไทย New S-Curve จะช่วยยกระดับความสามารถเศรษฐกิจในภูมิภาค การใช้นวัตกรรม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้า เขื่อนพลังงานน้ำในลาวหรือเมียนมา ขณะที่ กรุงเทพมหานครจะมี New CBDs และเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ใน 5 ปี จากที่มีโครงการใหม่ อาทิ One Bangkok , ดุสิตเซ็นทรัลปาร์ค , บางซื่อคอมเพล็กซ์ โครงการมักกะสัน เอเชียทีค รวมทั้งจะมีระบบรถไฟฟ้าครบทุกสายตามแผนงาน ขณะที่เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย ไม่มีใครมีโครงสร้างพื้นฐานและมีโลเกชั่นได้เท่าไทย ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง
นอกจากนี้ไทยยังมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพด ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเชื่อว่านักธุรกิจต่างประเทศก็ทยอยเข้ามาไทยหลังโควิดคลี่คลาย และรัฐบาลยังมีโครงการ Sounthern Economic Corridor (SEC) และท่าเรือน้ำลึกรองรับการเปิดประตู่สู่ด้านตะวันตกเชื่อมเข้าศูนย์กลางเอเชีย ที่มีอินเดียเป็นหัวหอก ก็จะทำให้ไทยสามารถขยายทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก
รองผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า ในด้านการเงินสำหรับไทยในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะภาคท่องเที่ยวที่มีแรงงานอยู่ถึง 10 ล้านคนยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะกลับมาเป็นปกติในปี 66 จากนั้นธปท.คงจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ และพันธบัตร มีอัตราดอกเบี้ยเชื่อมโยงกับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ
ส่วนเงินบาท มีโอกาสผันผวนในปีนี้ คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 32 ปลายๆถึง 34 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยรับผลกระทบจากการเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ส่วนราคาทองคำคาดว่าจะแกว่งไซด์เวย์
ในช่วงถัดไป ทั้งหมดจะขึ้นกับเฟดว่าจะตัดสินใจอย่างไรในการประชุมเดือน มี.ค.65 โดยเฟดจะลดสภาพคล่อง 5 ล้านล้านเหรียญ และธนาคารกลางยูโร (ECB) อีก 5 ล้านล้านเหรียญ โดยเฟดน่าจะใช้ยาแรงสกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ในด้านตลาดพันธบัตรไทยจะรับผลกระทบหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้กองทุน Money Market Fund รับผลกระทบ ส่วนค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยกดดันให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หุ้นก็จะแกว่งตัวผันผวน คริปโตก็มีความผันผวนเช่นกัน ราคาทองคำก็จะแผ่วลงหากเฟดดึงสภาพคล่องกลับ ดังนั้น ปีนี้ทุกสินทรัพย์การลงทุนไม่ง่าย จึงเป็นปีที่ท้าทายการลงทุน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 65)
Tags: BBL, กอบศักดิ์ ภู่ตระกูล, ธนาคารกรุงเทพ, เศรษฐกิจไทย