สหรัฐได้ออกมาเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (10 ก.พ.) ว่าจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปค (APEC) ในปี 2566 ขณะที่พยายามกระชับความสัมพันธ์ในเอเชียท่ามกลางการแผ่อิทธิพลของจีน
ทั้งนี้ สำนักข่าวเกียวโดเปิดเผยถ้อยแถลงของนางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงพันธสัญญาของคณะบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในการ “พัฒนาการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรมและเปิดกว้าง รวมถึงส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐ และรับประกันเสรีภาพและการเปิดกว้างของอินโดแปซิฟิก”
นอกจากนี้ นางซากียังได้ยืนยันความพยายามของคณะบริหารสหรัฐในการพัฒนา “กรอบงานเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก” กับพันธมิตรสหรัฐ ซึ่งสหรัฐระบุว่าจะช่วยกำหนด “วัตถุประสงค์ร่วม” เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า, มาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี, ความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทาน, พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐาน
ปธน.ไบเดน ซึ่งก้าวขึ้นบริหารประเทศในเดือนม.ค.ปีที่แล้ว กำลังพยายามฟื้นฟูสถานะสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สร้างความผิดหวังให้กับบรรดาพันธมิตรเอเชียแปซิฟิกด้วยการปฏิเสธเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคสำคัญหลายครั้ง
เอเปค ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2532 เป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหารือเรื่องการค้าเสรีของกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งครอบคลุม 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั่วโลก รวมถึงคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของประชากรโลกและประมาณ 50% ของปริมาณการค้าโลก
สมาชิกเอเปคประกอบไปด้วยออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี, จีน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, เปรู, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ไทย, สหรัฐและเวียดนาม
สำหรับเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้คือประเทศไทย และเปรูจะรับไม้ต่อจากสหรัฐในปี 2567
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 65)
Tags: APEC, ประชุมเอเปค