ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ 2.3 หมื่นลบ.ของ TRUE ที่ BBB+/Stable

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ “A-“

โดยพิจารณาจากสถานะเครดิตของทั้งบริษัทเองซึ่งเป็นผู้ออกตราสาร และสถานะเครดิตของผู้ค้ำประกันคือ ธนาคารกสิกรไทย (KBAK) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AA+” และแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” จากทริสเรทติ้ง ในการนี้ KBANK เป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ในสัดส่วน 45% ของเงินต้นคงเหลือและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้ดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2.3 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ และ/หรือชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทยซึ่งมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของบริษัทและความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (กลุ่มซีพี) และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวยังมีปัจจัยลดทอนจากงบการเงินที่มีหนี้สินอยู่ในระดับสูงของบริษัท ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม และผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)

ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงสอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง กล่าวคือ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 รายได้ของบริษัทมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแต่ก็มีปัจจัยลดทอนจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมาตรการควบคุมพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่ภาครัฐนำกลับมาใช้อีกซึ่งส่งผลกดดันต่อธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกลุ่มลูกค้าแบบเติมเงินและธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิก ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้ทั้งสิ้นจำนวน 1.02 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้โครงข่าย “ทรูมูฟ เอช” มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 32 ล้านราย ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ระดับ 5.99 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงเล็กน้อยที่ระดับ 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ รายได้รวมของกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงดังกล่าวลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทรูมูฟ เอช ยังสามารถคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในการเป็นผู้ให้บริการสื่อสารแบบไร้สายรายใหญ่อันดับสองของประเทศด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้คิดเป็นสัดส่วน 31.5%

ในทางตรงกันข้าม บริษัทมีรายได้จากการให้บริการธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้น 9.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์การเชื่อมต่อแบบออนไลน์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2564 จำนวนลูกค้าที่เป็นสมาชิกอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัทเติบโตมาอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 4.5 ล้านราย โดยมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 0.135 ล้านรายในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

ส่วนรายได้จากธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 นั้นลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 6.7% มาอยู่ที่ระดับประมาณ 7.4 พันล้านบาทอันเป็นผลมาจากจำนวนสมาชิกที่หดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าธุรกิจโรงแรม ตลอดจนแนวโน้มการรับชมสื่อและข่าวสารผ่านทางช่องทางอินเทอร์เน็ต (Over-the-top — OTT) และออนไลน์ที่มีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้จากการโฆษณา สันทนาการ และอื่น ๆ มีการฟื้นตัวเพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ระดับ 4.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมต้นทุนของบริษัท ตลอดจนการปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่ายที่ลดลง และประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับ 44.2% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 40.6% ในปี 2563 ในขณะเดียวกันก็มีเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.1 หมื่นล้านบาท

อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีหนี้สินอยู่ในระดับสูง กล่าวคือ ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 2.44 แสนล้านบาท โดยมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่ประมาณ 4.16 แสนล้านบาท บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อ EBITDA อยู่ที่ระดับ 7 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 9.5% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อโครงสร้างเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 82% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากงบประมาณใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการลงทุนในโครงข่ายสื่อสารแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกในช่วงระยะปานกลางโดยยังมีความจำเป็นจะต้องกู้ยืมใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมส่วนใหญ่ที่จะครบกำหนดในช่วงเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า

ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินของบริษัทย่อยในสัดส่วน 48% ของหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทและหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งระดับหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนของบริษัทนั้นต่ำกว่าระดับ 50% ตามที่กำหนดไว้ใน “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจึงเห็นว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในการเรียกร้องค่าทดแทนจากสินทรัพย์ของบริษัท ซึ่งส่งผลให้ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทให้อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบริษัทได้ประกาศความประสงค์ในการจะทำการควบรวมบริษัท ซึ่งขณะนี้ทริสเรทติ้งกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการประเมินการควบรวมดังกล่าวว่าจะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทอย่างไร ทั้งนี้ การประเมินยังขาดข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างของบริษัทใหม่และทิศทางธุรกิจหลังการควบรวม ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าการควบรวมกิจการในครั้งนี้ยังมีปัจจัยที่ท้าทายอีกมากไม่ว่าจะเป็นการได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น การได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ และการได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดในกลุ่มธุรกิจหลักและมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจต่อไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile อย่างต่อเนื่องต่อไปอีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วลดต่ำลงกว่าระดับ 5% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ในขณะที่อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรและมีโครงสร้างเงินทุนที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัทยังมีคดีความที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอีกบางส่วนที่อาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีสาระสำคัญต่อสถานะทางการเงินของบริษัท

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top