นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเตรียมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในทะเลอ่าวไทย ตอนกลาง โดยครอบคลุมเขตพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ในระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค.65 เป็นระยะเวลา 90 วัน และต่อด้วยเขตชายฝั่งทะเลตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างวันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย.65 เป็นระยะเวลา 30 วัน โดยการดำเนินมาตรการฯ มีความสอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน
โดยช่วงเวลาตั้งแต่ 15 ก.พ.-15 พ.ค.ในเขตพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี พบพ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศ และพร้อมผสมพันธุ์ และมีการแพร่กระจายของลูกปลาทู-ปลาลัง และปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก และช่วงเวลา 16 พ.ค.-14 มิ.ย. ในเขตชายฝั่งทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี พบลูกปลาวัยอ่อนที่เกิดบริเวณพื้นที่มาตรการมีโอกาสเลี้ยงตัวบริเวณชายฝั่ง และเขตต่อเนื่องปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพบลูกปลาขนาดเล็ก เดินทางเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก เพื่อให้ปลาทูสาวให้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป
ดังนั้นในปี 2565 กรมประมงยังดำเนินมาตรการปิดอ่าวไทยในช่วงเวลาและพื้นที่เดิม โดยอนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิดซึ่งเป็นของกลุ่มประมงขนาดเล็กและไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวไทย โดยเครื่องมือทำการประมงส่วนใหญ่ที่กำหนดห้ามทำการประมงในช่วงเวลาปิดอ่าวเป็นกลุ่มเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น อวนลาก อวนล้อมจับ และอวนล้อมจับปลากะตัก เป็นต้น โดยกลุ่มเรือที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวนี้สามารถย้ายแหล่งทำการประมงไปนอกพื้นที่ปิดอ่าวได้ และสำหรับการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลายังอนุญาตให้ทำการประมงในช่วงเวลาปิดอ่าวได้เฉพาะเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และขนาดช่องตาอวนไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว โดยการทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งความยาวอวนติดตาปลาที่ใช้ต้องไม่เกิน 2,500 เมตร จึงไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดอ่าวมากนัก
ทั้งนี้ ขอให้ชาวประมงให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำประมงโดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ ห้ามทำโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย
“กรมประมงมุ่งหวังให้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ ในแต่ละห้วงเวลานั้นสามารถทำให้เกิดกระบวนการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตปลาทูแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชาวประมงเกิดความตระหนักในการทำประมงได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ ดังคำขวัญที่ว่า “คุ้มครองปลามีไข่และสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อคงทรัพยากรไว้ใช้อย่างยั่งยืน”
นายเฉลิมชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 65)
Tags: กรมประมง, สัตว์น้ำ, อ่าวไทย, เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์