ดีอีเอสพบคนไทยตื่นตัวปัญหาเฟคนิวส์ข่าวสุขภาพมากขึ้น ตรวจสอบเป็นข่าวจริงเกือบครึ่ง

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 28 ม.ค. – 3 ก.พ. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่เข้ามาทั้งสิ้น 11,482,846 ข้อความ จากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 200 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 102 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรี่องโควิด 32 เรื่อง

โดยจากการประสานงานตรวจสอบข่าว ล่าสุดได้รับผลการตรวจสอบแล้ว จำนวน 56 เรื่อง พบว่าเป็นข่าวจริง 21 เรื่อง และที่น่าสนใจคือในจำนวนข่าวจริงนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดข่าวสุขภาพ และเป็นประเด็นเกี่ยวกับโควิด ได้แก่ เรื่องสธ. เตรียมนำวัคซีนซิโนแวคมาใช้สำหรับเด็ก 3 ขวบ เรื่องวิธีการทิ้งชุดตรวจโควิด-19 ATK ให้ถูกต้อง และไม่ปนเปื้อน เรื่องตรวจโควิด-19 เพื่อเคลมประกัน ผู้ตรวจต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เรื่องสธ. เพิ่มระบบแชทบอทในหมอพร้อม สำหรับตอบคำถามโควิด-19 และเรื่องซีบี เมดดิคอล แอนด์แล็บ และ สปสช. เปิดตรวจโควิด-19 แบบ RT- PCR ฟรี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีข่าวในหมวดนโยบายรัฐ/ข่าวสารราชการ ที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรการเยียวยาประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด ได้แก่ เรื่อง ครม. อนุมัติลดเงินสมทบประกันสังคม ม.40 เริ่ม 1 ก.พ.- 31 ก.ค.65 โดยทุกข่าวที่ได้รับผลการตรวจสอบแล้ว ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ประชาชนคือภาคส่วนสำคัญในการทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาข่าวปลอม จึงขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 65)

Tags: , ,
Back to Top