รมว.คมนาคม เตรียมลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสนามบินเบตง-ถกข้อติดขัดเปิดเชิงพาณิชย์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 ก.พ. 65 ตนพร้อมด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) รักษาการกรรมการผู้อำนวยใหญ่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) มีกำหนดลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคมร่วมตรวจราชการด้วย

โดยการเดินทางไปครั้งนี้ จะแบ่งเป็น 3 ชุด โดยนายอนุทิน จะเดินทางโดยเครื่องบินส่วนบุคคล แบบใบพัด ส่วนตนเองจะไปโดยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว คณะปลัดกระทรวงฯ จะใช้เครื่องบินแบบใบพัด

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การใช้เครื่องบินหลายแบบเดินทางไปยังสนามบินเบตง เพื่อทดสอบการขึ้นลงของเครื่องบินแต่ละประเภท ระยะเวลาการบินไปด้วย อีกทั้ง เพื่อยืนยันความพร้อมของสนามบินเบตงในการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ รวมถึงพิสูจน์กรณีที่ระบุว่าเครื่องบินต้องไปตีโค้งนอกเขตประเทศไทยก่อนลงรันเวย์ด้วย

พร้อมกันนี้ จะมีการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หน่วยงานและภาคเอกชนในพื้นที่ และได้เชิญผู้แทนของสายการบินนกแอร์ (NOK) ร่วมหารือแก้ไขปัญหาข้อติดขัดต่างๆ ในการเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ประเด็นข้อห่วงใยในการเปิดเชิงพาณิชย์ในเรื่องงบประมาณในการบริหารและด้านบำรุงรักษา (Operation and Maintenance) ของสนามบินเบตง ซึ่งเบื้องต้น ทางศอ.บต. รับที่จะดูแล เพราะการให้บริการนี้ เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงและสร้างการพัฒนาให้กับประชาชน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนทย.นั้นปัจจุบัน มีกองทุนท่าอากาศยานซึ่งใช้บริหารจัดการสนามบิน 28 แห่งอยู่แล้ว

ปัจจุบัน สนามบินเบตงได้รับใบอนุญาตสนามบินแล้ว พร้อมทำการบินในทุกรูปแบบ ซึ่งได้เริ่มทำการบินแบบเช่าเหมาลำ(Charter Flight) เส้นทางดอนเมือง-เบตง- ดอนเมือง เมื่อวันที่ 29 ม.ค.65 เป็นเที่ยวบินทดสอบ ที่มีผู้โดยสารเต็มจำนวนที่นั่ง แต่ยังไม่ใช่เที่ยวบินเป็นทางการ เป็นการทำการบินเพื่อให้เห็นว่าสนามบินมีความพร้อมในการให้บริการ มีความปลอดภัยตามหลักองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

สำหรับการเปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ สายการบินที่จะทำการบิน ซึ่งขณะนี้ คือสายการบินนกแอร์ จะดูเรื่องจำนวนผู้โดยสาร โดยที่ผ่านมา สายการบินได้เสนอขอให้ภาครัฐ รับประกันจำนวนผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 75% ต่อเที่ยวบิน หรือเกือบ 60 ที่นั่ง โดยจะใช้เครื่องบินแบบ Q-400 มีความจุผู้โดยสารจำนวน 88 ที่นั่ง ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ทางสายการบินและภาครัฐในพื้นที่หารือกันว่า จะสามารถดำเนินการได้แค่ไหน

“อธิบดีกรมท่าอากาศยานในฐานะคนกลาง จะพิจารณาถึงความต้องการเดินทาง เพื่อประเมินจำนวนผู้โดยสารในแต่ละวันทั้งไปและกลับว่ามีเท่าไร เพื่อจะได้จัดประเภทของเครื่องบินที่มีขนาดสอดคล้องเหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสาร เพราะเรื่องจำนวนผู้โดยสารสำคัญ หากปริมาณผู้โดยสารน้อย ไม่พอกับต้นทุนก็ต้องเกี่ยวโยงไปถึงการคิดอัตราค่าโดยสาร ซึ่งต้องดูว่าว่าจะรับได้หรือไม่”

รมว.คมนาคมกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 65)

Tags: , ,
Back to Top