ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 9,172 ราย ATK 4,012 ตาย 21 ราย

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,172 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,855 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 34 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 61 ราย
  • ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 222 ราย
    ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 4,012 ราย
  • เสียชีวิต 21 ราย เป็นเพศชาย 11 ราย เพศหญิง 10 ราย อายุเฉลี่ย 71 ปี (อายุระหว่าง 38-92 ปี) แยกเป็น ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 15 ราย คิดเป็น 71% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 5 ราย คิดเป็น 24% และหญิงตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ที่จังหวัดสตูล 1 ราย คิดเป็น 5% โดยเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย 11 ราย ได้รับวัคซีนเข็มเดียว 1 ราย และได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็มเกิน 3 เดือนก่อนติดเชื้อ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็ม 3 รวมถึงบุคลากรทางแพทย์และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรับวัคซีนเข็ม 4

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 2,465,723 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 7,832 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 22,228 ราย

จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,432 ราย, สมุทรปราการ 854 ราย, ชลบุรี 399 ราย, ภูเก็ต 395 ราย, นนทบุรี 324 ราย, นครศรีธรรมราช 194 ราย, มหาสารคาม 193 ราย, ปทุมธานี 179 ราย, ศรีสะเกษ 175 ราย เท่ากับระยอง 175 ราย

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 385,204,312 ราย เสียชีวิต 5,718,791 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา 76,882,290 ราย อันดับ 2 อินเดีย 41,795,478 ราย อันดับ 3 บราซิล 25,813,685 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 19,872,989 ราย และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร 17,515,199 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 30

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ยังน่าเป็นห่วง เพราะมีอัตราเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยหลังพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในแอฟริกาใต้แล้ว 10 สัปดาห์ มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว 90 ล้านราย ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าทั้งปี 63 เนื่องจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุม เช่น เดนมาร์กยกเลิกให้สวมหน้ากากอนามัย และไม่ต้องแสดงหลักฐานทางสุขภาพในการสมัครงาน ฝรั่งเศสยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในที่โล่งแจ้ง

“การยกเลิกมาตรการควบคุมของหลายประเทศ ไม่ได้แปลว่าสถานการณ์มีความปลอดภัยแล้ว แต่ยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมา และมั่นใจว่ามีระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน”

พญ.อภิสมัย กล่าว

ดังนั้น การปรับมาตรการต่างๆ ทาง ศบค.จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แม้อัตราการเสียชีวิตในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจะต่ำกว่าสายพันธุ์เดลตา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเก็บรวมรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ในสัปดาห์หน้า

ส่วนการให้บริการฉีดวัคซีนนั้น นอกจากการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก 5-11 ปี วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สำหรับผู้ที่ฉีดครบสองเข็มมาแล้ว 3 เดือน และเข็ม 4 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงแล้ว ยังให้บริการครอบคลุมไปถึงชาวต่างชาติในประเทศไทยแล้ว 45.39% ทั้งในกลุ่มโรงงาน กลุ่มประมง รวมถึงผู้ที่หลบหนีการสู้รบตามแนวชายแดน

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) มีความเป็นห่วงกรณีเกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในหลายจังหวัด ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้มงวดมาตรการควบคุม เนื่องจากเป็นจังหวัดรองที่ไม่ได้เป็นจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวก็ขอให้แต่ละจังหวัดเข้าไปดำเนินการกวดขันดูแล และจะมีการจัดหา ATK ที่มีคุณภาพและราคาประหยัดเสนอที่ประชุม ศบค.ในสัปดาห์หน้า

โดยมีคลัสเตอร์ที่พบวันนี้

  • คลัสเตอร์โรงเรียน 11 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์ หนองบัวลำภู ยโสธร สุพรรณบุรี มหาสารคาม ศรีสะเกษ กรุงเทพฯ สระแก้ว และ ชลบุรี ที่อาจทำให้ผู้ปกครองมีความกังวลต่อความปลอดภัยของลูกหลาน แม้แต่ละคลัสเตอร์จะมีจำนวนไม่เกิน 10 ราย ก็สามารถปิดเรียนเฉพาะชั้นเรียน หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากจนต้องปิดโรงเรียนขอให้เสนอคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดก่อน
  • คลัสเตอร์ตลาด 21 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สระบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ น่าน ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ปทุมธานี สุรินทร์ ลพบุรี ปราจีนบุรี ตาก ขอนแก่น อ่างทอง เชียงใหม่ พระนครอยุธยา อุดรธานี และ สมุทรสาคร
  • คลัสเตอร์บุคลากรทางแพทย์ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี อุดรธานี ศรีสะเกษ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ขอนแก่น และ นนทบุรี
  • คลัสเตอร์งานพิธีกรรม ได้แก่ งานศพที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อุดรธานี เพชรบุรี และจันทบุรี งานแต่งที่จังหวัดน่าน ศรีสะเกษ และมหาสารคาม งานบวชที่จังหวัดปราจีนบุรี

ส่วนกรณีเปิดรับลงทะเบียน Test and Go นั้นคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 7 วัน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบรายละเอียดของหลักฐานให้เรียบร้อยก่อน เช่น ที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาดเรื่องการประกันสุขภาพที่ไม่ครอบคลุม ซึ่งจะสร้างภาระต่อระบบสาธารณสุข

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 65)

Tags: , , ,
Back to Top