สทท. มั่นใจปี 65 เป็นปีทองท่องเที่ยวไทย-ร้องรัฐหนุน Tourism Clinic ช่วยฟื้นธุรกิจ

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท. มั่นใจว่าปี 65 นี้จะเป็นปีทอง ที่พลิกฟื้นให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาเดินหน้า หลังรัฐบาลกลับมาใช้เปิดรับนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Test&Go เมื่อความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนลดลงซึ่งจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ 1. ความมั่นคงทางนโยบาย เพื่อการวางแผนระยะยาวทั้งด้านคน การลงทุน และการตลาด และ 2. การสนับสนุนจากภาครัฐในการรีสตาร์ทธุรกิจ เช่น โครงการเที่ยวคนละครึ่ง, โครงการรถบัสเดือนละ 5,000 คัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด และข้ามจังหวัด, โครงการสนับสนุนชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แก่ร้านอาหาร และสถานบันเทิง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และ Tourism Clinic เป็นต้น

ทั้งนี้ สทท. เชื่อมั่นว่า Tourism Clinic จะเป็นหัวใจสำคัญในการพลิกฟื้นให้ท่องเที่ยวไทยกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง โดยจะดำเนินการตั้งแต่การรวบรวมปัญหาช่วยเยียวยา เร่งพัฒนา ออกแบบแผนการฟื้นฟู ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มอาชีพ แต่ละพื้นที่ แต่ละรายที่มีปัญหาแตกต่างกัน โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งภาควิชาการและภาคประสบการณ์เข้ามาช่วยให้ถูกจุด เพื่อให้ทุกคนกลับมาเข้มแข็ง สำหรับปัจจุบันได้เริ่มทำโครงการนำร่องที่ภูเก็ต กระบี่ พังงา และกำลังจะมีการดำเนินการต่อเนื่องทั่วประเทศ

“เชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวในปีนี้จะกลับมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ จากหลายปัจจัยทั้งความร่วมมือจากประเทศซาอุดิอาระเบีย สถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับหลายประเทศเริ่มเอาไทยเป็นแบบอย่าง ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ยังต้องให้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการ Tourism Clinic โดยคาดว่าต้องใช้งบประมาณอยู่ที่ 200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง เพราะการท่องเที่ยวคือเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างการกระจายรายได้สู่ประชาชนได้มากที่สุด และเร็วที่สุด” นายชำนาญ กล่าว

สำหรับกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย หรือค่าเหยียบแผ่นดินนั้น นายชำนาญ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี นอกเหนือจากเรื่องการประกันภัยแล้ว ก็มีเป้าประสงค์ในการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ โดยสิ่งสำคัญคือการนำกองทุนนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบุคลากรแล้ว ควรนำทุนส่วนหนึ่งมาพัฒนาผู้ประกอบการให้ Smart ขึ้น ให้กลับมามีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และนำมาพัฒนาแพลทฟอร์มท่องเที่ยวทั้งอีคอมเมิร์ช BIG DATA และ Metaverse แบบครบวงจร และเก็บทุนสำรองส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวในกรณีฉุกเฉิน แบบที่กองทุนประกันสังคมได้ทำสำเร็จมาแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน กองทุนนี้ควรให้ความสำคัญกับการให้ผู้แทนภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการกองทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธาน สทท. ด้านการตลาด กล่าวว่า ในปีนี้ถือเป็นโอกาสทองที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 1-2 เดือนนี้ปรับตัวดีขึ้น อยากขอให้รัฐบาลปรับมาตรการการรับนักท่องเที่ยวระบบ Test&Go ให้มีความยุ่งยากลดลง เช่น ลดการตรวจโควิด RT-PCR โดยจากตัวอย่างการท่องเที่ยวของประเทศดูไบ มัลดีฟ และตุรกี ก็สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยใช้ระบบที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งสามารถดึงรายได้จากการท่องเที่ยวกลับมาได้ โดยที่ไม่กระทบกับประชาชนในประเทศมากนัก

นอกจากนี้ ต้องเน้นการขยายตลาดเชิงรุกทั้งแบบ G2G คือการสร้าง Travel Bubble และเปิดน่านฟ้ากับประเทศต่างๆ มากขึ้น เช่น ประเทศอินเดีย เป็นต้น โดยล่าสุดไทยมีข่าวดีเรื่องการกลับมากระชับความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาราเบีย ซึ่งผู้ประกอบการก็ให้ความสนใจอย่างมาก ทั้งในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Halal และ Medical & Wellness

ในส่วนของ สทท. จะเร่งส่งเสริมการสร้าง B2B Partner-Roadshow ผ่านสมาคม เครือข่ายผู้ประกอบการ รวมไปจนถึงการพัฒนาและนำเสนอสินค้าเพื่อเจาะตลาดกลุ่มใหม่ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น Gastronomy, สายมูเตลู, GLBT, Wedding, Responsible หรือ Workation และใช้ช่องทางการตลาด และสื่อการตลาดแบบใหม่ผสมผสาน ออฟไลน์-ออนไลน์ และ Metaverse โดยจะมีการตั้งคณะทำงานทูตการท่องเที่ยวเจาะตลาดเชิงรุกร่วมกัน ของ ททท. และ สทท. เพื่อเจรจาสร้างโอกาส ลดอุปสรรค และเดินหน้าเปิดเกมรุกก่อนใครกับประเทศลุ่มเป้าหมาย ทั้งผ่าน ททท. ผ่าน Travel Agency Influencer และ Digital Media

“คิดว่าปีนี้ประเทศไทยมีโอกาสมาก แต่จะเป็นทองคำ หรือทองแดง ขึ้นอยู่กับนโยบายที่รัฐจะสนับสนุน ที่สำคัญคือไม่เปิดๆ ปิดๆ และเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น หากรัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ เชื่อว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 5 ล้านคนแน่นอน แต่หากนักท่องเที่ยวปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว คงจะได้เห็นธุรกิจภาคการท่องเที่ยวปิดตัวลงมากกว่านี้” นายวิชิต กล่าว

สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ไตรมาส 4/64 เท่ากับ 47 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด แต่พลิกฟื้นดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมามาก จากไตรมาสที่ 3/64 ที่ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 7 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาส 1/65 เท่ากับ 63 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่า ในไตรมาส 1/65 สถานการณ์ท่องเที่ยวน่าจะดีกว่าไตรมาส 4/64 ขึ้นมาอีกเล็กน้อย

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4/64 อยู่ที่ 342,024 คน รวมทั้งปี 64 เป็นจำนวน 427,869 คน โดยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 37,739.44 ล้านบาท

ด้านธุรกิจโรงแรม หรือที่พัก ในไตรมาสนี้เปิดทำการปกติ 86% มีอัตราการเข้าพักในภาพรวมทั่วประเทศ เฉลี่ย 32% ซึ่งเป็นอัตราการเข้าพักที่ดีที่สุดของปีนี้ โดยภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักสูงที่สุด 39% รองลงมาเป็นกรุงเทพมหานคร 36% ภาคใต้ และภาคตะวันออก 33% ตามลำดับ ส่วนภาคกลาง มีอัตราการเข้าพักต่ำที่สุด 25%

ทั้งนี้ พบว่าธุรกิจโรงแรม หรือที่พักที่เปิดทำการเกินกว่ากึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็น 57% ยังมีอยู่ในสภาวะขาดทุนหรือไม่มีกำไร แต่ยังเปิดทำการเพื่อประคองธุรกิจและรักษาแรงงานเอาไว้เท่านั้น ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 80,926 บาท/คน/ทริป ซึ่งสูงกว่าก่อนที่จะมีวิกฤตโควิด-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.พ. 65)

Tags: , ,
Back to Top