นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงภาพรวมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนธันวาคม 2564 และทั้งปี 2564 ว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนเดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่ารวมคิดเป็น 141,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.92% โดยตัวเลขส่งออก มีมูลค่ารวม 83,517 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.31%
สำหรับการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนใน 7 ประเทศสำคัญ มีรายละเอียดดังนี้ 1.มาเลเซีย ส่งออกเพิ่มขึ้น 24.84% มูลค่า 17,223 ล้านบาท 2.กัมพูชา เพิ่มขึ้น 27.26% มูลค่า 13,151 ล้านบาท 3.เมียนมา เพิ่มขึ้น 53.54% มูลค่า 12,762 ล้านบาท 4.สปป.ลาว เพิ่มขึ้น 23.13% มูลค่า 12,332 ล้านบาท 5.จีน ลดลง 15.12% มูลค่าส่งออก 9,290 ล้านบาท 6.สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 32.99% มูลค่า 3,565 ล้านบาท 7.เวียดนาม เพิ่มขึ้น 148.32 % มูลค่า 4,227 ล้านบาท
ขณะที่การค้าชายแดนและผ่านแดน รวมทั้งปี 2564 มีมูลค่าการค้า 1,715,345 ล้านบาท หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.03% โดยการส่งออก เพิ่มขึ้น 34.6% คิดเป็นมูลค่า 1,031,330 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขทั้งปีส่งออกทั้งปี 64 ของไทย มีมูลค่า 8.5 ล้านล้านบาท ผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนในประเทศเพื่อนบ้านถึง 1 ล้านล้านบาท
“การค้าชายแดนและผ่านแดนปี 64 เกินกว่าเป้าที่กำหนดที่ 6% และโตกว่าปี 63 ถึง 34.6% ประมาณ 5-6 เท่าของเป้าที่ตั้งไว้ คิดเป็นมูลค่า 265,118 ล้านบาท”
รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ระบุ
ตัวเลขส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนทั้งปี 64 นั้น 1.สปป.ลาว เพิ่มขึ้น 39.31% คิดเป็นมูลค่า 417,731 ล้านบาท 2.มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 42.6% คิดเป็นมูลค่า 346,603 ล้านบาท 3.เมียนมา เพิ่มขึ้น 109.24% คิดเป็นมูลค่า 122,086 ล้านบาท 4.กัมพูชา เพิ่มขึ้น 16.63% คิดเป็นมูลค่า 144,910 ล้านบาท 5.จีน เพิ่มขึ้น 59.71% คิดเป็นมูลค่า 194,820 ล้านบาท 6.สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 51.49% คิดเป็นมูลค่า 53,853 ล้านบาท 7.เวียดนาม เพิ่มขึ้น 5.03% คิดเป็นมูลค่า 46,308 ล้านบาท
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับในปี 65 จากการหารือร่วมกันกับภาคเอกชน ได้ข้อสรุปจะตั้งเป้าการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนไว้ที่ 5-7% คิดเป็นเฉพาะมูลค่าการส่งออกที่ราว 1.08 – 1.10 ล้านล้านบาท
ปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้การส่งออกเติบโตได้ในปี 65 สำหรับการค้าชายแดนและผ่านแดน คือ
- จากการประเมินเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- จากการคาดการณ์เรื่องค่าเงินบาทยังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 64 ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในประเทศคู่ค้าได้
- คาดว่าในปี 65 ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางให้บริการรถไฟลาว-จีน ได้โดยสะดวก ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยจากเวียงจันทน์ไปจีนสะดวกมากขึ้น
- การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น ในรูป กรอ.พาณิชย์ หรือวอรูมการส่งออกยังเดินหน้าต่อไป
- นโยบายเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันมี 97 ด่าน เปิดแล้ว 48 ด้าน และมีเป้าหมายเปิดปี 65 อีก 12 ด่าน ซึ่งจะเร่งรัดต่อไป ได้แก่
- จุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย, ท่าเทียบเรือมุกดาหาร อ.เมือง
- จุดผ่อนปรนการค้า บ้านแจ่มป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย, บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย, บ้านจุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย, บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย
- จุดผ่านแดนถาวร อ.เชียงคาน จ.เลย, ท่าเรือหนองคาย อ.เมือง, ท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม อ.เมือง, บ้านปากแซง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี
- ช่องทางธรรมชาติ บ้านท่าเส้น อ.เมืองจ.ตราด
- ด่านหนองเอี่ยน จังหวัดสระแก้ว
อย่างไรก็ตาม การค้าชายแดนและผ่านแดน ยังมีปัจจัยเสี่ยง 2 ประเด็นใหญ่ คือ
ประเด็นแรก สถานการณ์โควิดโอมิครอน ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเปิดปิดด่านและการจราจรส่งออกสินค้าผ่านแดน-ข้ามแดน เพราะอาจมีความเข้มงวดในการตรวจโรคมากขึ้น
ประเด็นที่สอง สถานการณ์การเมืองเศรษฐกิจในเมียนมา อาจมีผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกสินค้าชายแดนไทยไปเมียนมาได้ โดยเฉพาะนโยบายการลดการใช้เงินตราต่างประเทศของเมียนมา เพื่อควบคุมการนำเข้าเพื่อลดปัญหาการขาดดุลการชำระเงินของเมียนมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.พ. 65)
Tags: การค้า, การค้าระหว่างประเทศ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ส่งออก