ธปท.เปิดรับฟังความเห็นแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดเดือน ก.พ. 65 โดยมุ่งหวังให้การเปิดรับฟังความเห็นในครั้งนี้ ตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนได้อย่างเหมาะสม และเป็นรูปธรรม ก่อนที่ ธปท.จะนำไปใช้ออกแบบหลักเกณฑ์ต่อไป

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งเรื่องดิจิทัลและความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อทุกภาคส่วนรวมถึงภาคการเงินด้วย ธปท. ตระหนักถึงความสำคัญของกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ที่จะเป็นทั้งโอกาสในการพัฒนาบริการทางการเงิน และความเสี่ยงที่จะกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งอาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงขึ้นได้ หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันการณ์

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ธปท. จึงได้จัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (consultation paper) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารหลักการและทิศทางที่ ธปท. อยากเห็น บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งให้มีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงเร็ว

“จะมีการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ทิศทางและแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้เหมาะสม และเป็นรูปธรรม”

ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่ ธปท. มุ่งหวังต่อภาคการเงิน คือ (1) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม (2) สนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจการเงินดิจิทัลและรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และ (3) สามารถรับมือกับความเสี่ยงสำคัญและความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทัน ไม่ส่งผลกระทบต่อไปยังระบบเศรษฐกิจการเงินและผู้บริโภคในวงกว้าง ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ที่ยืดหยุ่นขึ้น และไม่สร้างภาระแก่ผู้ให้บริการทางการเงินมากเกินจำเป็น โดยมีทิศทางสำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย

ทิศทางที่หนึ่ง : การเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 Open ได้แก่ 1) Open Competition เปิดให้แข่งขัน โดยเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (virtual bank) และขยายขอบเขตหรือเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้เล่นเดิม 2) Open Infrastructure เปิดให้ผู้เล่นต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้นเช่น ระบบการชำระเงิน การใช้สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยธนาคารกลาง (Retail CBDC) และกลไกการค้ำประกันความเสี่ยงที่รองรับความต้องการเงินทุนหลากหลายรูปแบบ และ 3) Open Data เปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล โดยจะผลักดันให้มีกลไกที่ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ให้บริการแต่ละแห่งไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวกมากขึ้นเป็นลำดับ ภายใต้นโยบาย open banking และการเชื่อมต่อฐานข้อมูลของภาคการเงินกับแหล่งอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และพัฒนาบริการทางการเงิน

ทิศทางที่สอง : การเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน โดย 1) ให้ภาคการเงินประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง และสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง และ 2) ช่วยให้ภาคครัวเรือนสามารถอยู่รอดและปรับตัวในโลกใหม่ได้ ด้วยการยกระดับการส่งเสริมทักษะด้านการเงินดิจิทัล ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สิน เช่น กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัว และผลักดันกลไกแก้หนี้อย่างครบวงจรสำหรับคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

ทิศทางที่สาม : การกำกับดูแลอย่างยืดหยุ่นและเท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ โดยคำนึงถึงสมดุลระหว่างบทบาทของ ธปท. ในการส่งเสริมนวัตกรรมและการกำกับดูแลความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน ผ่าน 1) การกำกับดูแลผู้ให้บริการตามลักษณะความเสี่ยงและความซับซ้อนของบริการทางการเงิน 2) การทบทวนเกณฑ์ไม่ให้เป็นอุปสรรคและสร้างภาระต้นทุนที่เกินจำเป็นแก่ผู้ให้บริการ และ 3) การกำกับดูแลผู้ให้บริการให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเงิน และการกำกับดูแล non-bank ที่มีบทบาทมากขึ้น

ด้านนางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า แรงจูงใจที่ทำให้ ธปท. เข้ามาทำเรื่องนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากมี 2 กระแสที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกปัจจุบัน คือ 1. กระแสด้านดิจิทัล และ 2. กระแสด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถานการณ์โควิดในทั่วโลกเป็นตัวทำให้ทั้ง 2 กระแสดังกล่าวชัดเจนขึ้น และมาพร้อมกันทั้งโอกาสและความเสี่ยง

สำหรับทิศทางในการปรับภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงิน ประกอบด้วย 3 หลักการสำคัญ คือ 1. การเปิดให้พัฒนานวัตกรรม แต่ต้องบริหารความเสี่ยงได้และไม่ผูกขาด 2. สนับสนุนให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ โดยไม่ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง 3. ส่งเสริมนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันยังกำกับดูแลความเสี่ยงสำคัญไม่ให้กระทบต่อวงกว้าง

โดย ธปท. หวังว่าการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินตามทิศทางดังกล่าว จะทำให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาบริการทางการเงิน บริหารความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน และรับมือกับสิ่งไม่คาดคิด รวมถึงผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถได้รับบริการที่ตอบโจทย์ และได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม ภาคครัวเรือนมีความรู้ และพร้อมปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม ไม่ก่อหนี้เกินตัว ขณะที่กลุ่มที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้รับการแก้ไขปัญหาและไปต่อได้ ส่วนภาคธุรกิจมีแรงจูงใจและได้รับเงินทุนเพียงพอ เพื่อปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่น

นางรุ่ง ระบุว่า กรณีของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยอมรับว่า ธปท.มีความกังวล และยังไม่มั่นใจถึงความเสี่ยงในอนาคตว่าจะมีมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน คือมีความผันผวนมากในด้านราคา นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของรูปแบบของธนาคารพาณิชย์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เช่น โครงสร้างธุรกิจ การเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ออกห่างจากการให้บริการทางการเงินมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ ในการทำนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย ธปท.จะเข้าไปกำกับดูแลให้มีความยืดหยุ่น และเท่าทันกับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ โดยในส่วนของการกำกับดูแลอย่างยืดหยุ่นนั้น จะกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยงของผู้ให้บริการที่หลากหลายขึ้น และทบทวนเกณฑ์ไม่ให้เป็นอุปสรรคและภาระที่เกินจำเป็น

ส่วนการกำกับดูแลให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่นั้น เช่น ไม่ต้องการเห็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อการชำระเงินแทนเงินบาทในวงกว้าง ขณะเดียวกัน จะกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป รวมทั้งการกำกับดูแล non-bank ให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มการกำกับ non-bank ที่มีความสำคัญเชิงระบบ

ด้าน น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงการเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 Open ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Open Competition เปิดให้แข่งขัน โดยเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (virtual bank) และขยายขอบเขตหรือเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้เล่นเดิมนั้น เนื่องจาก ธปท.เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการมีผู้เล่นใหม่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะ virtual bank ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในด้านบริการที่สะดวก รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องจัดตั้งสาขาแบบธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ทำให้สามารถลดต้นทุนลงมาได้เหลือเพียง 1 ใน 3 ของการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหากมีผู้เล่นในลักษณะนี้เข้ามาในระบบธนาคารมากขึ้น จะทำให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้รับบริการได้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี Virtual bank ยังต้องได้รับการกำกับดูแลในภาพรวมเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจหลักยังคงเป็นการรับฝากเงิน เพียงแต่ในรายละเอียดอาจจะมีการกำกับดูแลตามลักษณะความเสี่ยงของผู้เล่นในแต่ละประเภท

“การเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือ concept ในการจัดทำภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนนี้ จะเปิดรับฟังความเห็นจนถึงสิ้นเดือนก.พ. เพื่อจะนำมาออกแบบหลักเกณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะภายในครึ่งปีแรกนี้ จากนั้นก็จะเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์ที่ได้จัดทำขึ้นอีกครั้ง ก่อนจะนำมาปรับเป็นหลักเกณฑ์ที่จะออกใช้จริง”

น.ส.วิภาวี กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top