นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อปลายเดือน ม.ค.65 ส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้นชัดเจน โดยมีความเป็นไปได้สูงที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน มี.ค.65 พร้อมกับการยุติมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) หลังจากเฟดชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (QE Tapering) โดย บล.ทิสโก้และตลาดประเมินสอดคล้องกันว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าราคาหุ้นในปัจจุบันได้รับรู้ประเด็นดังกล่าวไปมากแล้ว
สำหรับแนวโน้มการลดขนาดงบดุล (QT) บล.ทิสโก้คาดว่าจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้ โดยหากอิงจากการประเมินของ Jefferies ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของ บล.ทิสโก้ที่คาดว่าการลดขนาดงบดุลของเฟดจะอยู่ที่เดือนละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดโดยเฉลี่ยที่เดือนละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้งบดุลลดลงมากกว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 1 ปีแรกของการปรับลด จากระดับสูงสุดที่ 8.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน
นอกจากประเด็นด้านการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มข้นของเฟดแล้ว บล.ทิสโก้ แนะนำให้นักลงทุนติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนใกล้ชิด เพราะอาจนำไปสู่ภาวะราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นอีก จากการศึกษาดัชนีราคาช่วงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นแรง (Commodities Supercycle) ในปี 54 พบว่าราคาน้ำมัน (WTI) จะใช้เวลาส่งผ่านราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังดัชนีราคาผู้ผลิตด้านสินค้าโภคภัณฑ์ (PPI: All commodities) และอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ราว 2 และ 4 เดือน ตามลำดับ ดังนั้นราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นชี้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มขึ้นต่อถึงเดือน พ.ค.เป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่แผ่วลง อาจจะทำให้เฟดต้องส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เช่น การขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้งในปีนี้ หรือมีการปรับขึ้นถึงครั้งละ 0.50% จากปกติที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อตลาดการเงิน
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/64 คาดการณ์ของตลาดโดยรวม (Bloomberg Consensus) จำนวน 234 หลักทรัพย์ (คิดเป็น 88% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด) คาดจะมีกำไรสุทธิโดยรวมอยู่ที่ 2.20 แสนล้านบาทในไตรมาส 4/64 เพิ่มขึ้น +24% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) และ +22% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ)
โดยกลุ่มที่คาดจะมีกำไรเติบโตโดดเด่นทั้ง YoY และ QoQ คือ ENERG (+81% YoY, +37% QoQ), CONMAT (+30% YoY, +37% QoQ), FOOD (+81% YoY, พลิกจากที่ขาดทุน QoQ) และ ETRON (+45% YoY, +33% QoQ)
ดังนั้น บล. ทิสโก้ ยังคงมุมมองการลงทุนปีนี้เป็นปีที่ท้าทายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของเฟดที่จะเริ่มเข้มงวดขึ้น ซึ่งมองหุ้นที่คาดงบ Q4 จะออกมาดีและหุ้นปันผลสูงที่กำไรปีนี้ยังเติบโตได้เป็นตัวเลือกการลงทุนที่เด่นที่สุดในเดือนนี้ อิงจากสถิติย้อนหลัง 7 ปีในเดือน ก.พ.ต่อเนื่องจนถึงเดือน มี.ค. ผลตอบแทนรวมของ SETHD Index ซึ่งตัวแทนของหุ้นที่เงินปันผลดีสม่ำเสมอ จะดีกว่าผลตอบแทนรวมของ SET Index เฉลี่ย +2.1% และ +0.4% ตามลำดับ โดยหุ้นเด่นในเดือน ก.พ.ที่ บล.ทิสโก้แนะนำ คือ BANPU, COM7, CPALL, CPF, EGCO, KKP และ SCB
ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,610-1,620 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,660-1,680 จุด ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 65)
Tags: QE, บล.ทิสโก้, หุ้นปันผล, อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, เงินเฟ้อ, เฟด