นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS สำหรับฤดูการผลิตปี 64/65 โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ ที่ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 55,000 ตันอ้อยต่อวัน นับเป็นโรงงานน้ำตาลโรงเดี่ยวที่มีกำลังผลิตสูงที่สุดในโลก โดยในปีนี้ เริ่มเปิดหีบตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค.64 จนถึงวันที่ 20 มค.65 เป็นระยะเวลาหีบอ้อย 42 วัน พบว่า มีอ้อยเข้าหีบแล้ว 1.48 ล้านตัน มากกว่าช่วงระยะเวลาหีบเท่าๆ กันของปีก่อนถึง 20.5% เมื่อรวมกับอีก 2 โรงงาน คือโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยฯ สาขา 3 และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ คิดเป็นปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2.45 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้แล้ว 2.22 ล้านกระสอบ หรือ 222 ล้านกิโลกรัม
“ปริมาณอ้อยปีนี้มากกว่าปีก่อนตามคาด รวมถึงคุณภาพอ้อยก็ดีกว่า เพราะมีปริมาณฝนมากกว่าปีก่อน โดยคาดว่าจะเปิดหีบไปถึงกลางเดือนเม.ย.65 ซึ่งนานกว่าปีก่อน เพราะปีก่อนปริมาณอ้อยน้อยจากภาวะฝนแล้ง ทั้งนี้ปริมาณอ้อยที่มากขึ้นในปีการผลิตนี้จะส่งผลดีต่อทุกสายธุรกิจ เพราะเราได้โมลาส หรือกากน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมากขึ้น และได้ชานอ้อยไปป้อนให้โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยมากขึ้นด้วย จึงมั่นใจว่าปีนี้ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS จะดีขึ้นกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน”
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
สำหรับสายธุรกิจน้ำตาลซึ่งมีสัดส่วนรายได้มากกว่า 65% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่ม KTIS นอกจากจะได้รับผลดีจากปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นแล้ว ราคาน้ำตาลในตลาดโลกในปีนี้ก็สูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมากด้วย โดยปี 64 ที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่ปี 65 นี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเคลื่อนไหวระหว่าง 18-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS
นอกจากนี้ กลุ่ม KTIS ได้กำชับให้ทุกโรงงานทำตามนโยบายของภาครัฐในการลดอ้อยไฟไหม้ และรับอ้อยสดเข้าหีบให้มากที่สุด โดยจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า อ้อยที่เข้าสู่โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ ในฤดูการผลิต 64/65 นี้ เป็นอ้อยสดเกือบ 100% ช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในอากาศได้อย่างมาก
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า ในกลางปี 65 บริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุม เป็นต้น และยังมีรายได้ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งจากโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เฟส 1 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม KTIS และกลุ่ม PTT ซึ่งมีโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า 3 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 85 เมกะวัตต์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 65)
Tags: KTIS, ณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล, หุ้นไทย, เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น