ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 564.69 จุด แรงซื้อหุ้นเทคโนฯหนุนตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (28 ม.ค.) ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้หลังจากที่การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ โดยตลาดได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,725.47 จุด เพิ่มขึ้น 564.69 จุด หรือ +1.65%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,431.85 จุด พุ่งขึ้น 105.34 จุด หรือ +2.43%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,770.57 จุด ทะยานขึ้น 417.79 จุด หรือ +3.13%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 1.3%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 0.8% หลังปรับตัวลง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน และดัชนี Nasdaq แทบไม่เปลี่ยนแปลงในสัปดาห์นี้

ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. หลังจากร่วงลงมากกว่า 350 จุด และดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563

หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก ยกเว้นหุ้นกลุ่มพลังงานติดลบ ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีทะยานขึ้นมากที่สุดถึง 4.3% ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2563

หุ้นแอปเปิลพุ่งขึ้นเกือบ 7% หลังเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสออกมาสดใส โดยมีรายได้รายไตรมาสสูงสุด แม้เผชิญกับปัญหาด้านอุปทานและผลกระทบของโรคโควิด-19 ระบาดก็ตาม

หุ้นไมโครซอฟท์, แอมะซอน, เมตา และอัลฟาเบท ปิดพุ่งขึ้นตามกันในวันศุกร์ หลังร่วงลงอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ ซึ่งเป็นแรงหนุนต่อตลาด

หุ้นวีซ่า อิงค์ พุ่ง 10.6% หลังเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้านการเดินทางระหว่างประเทศและด้านอีคอมเมิร์ซ

แต่หุ้นเชฟรอนร่วงลงราว 3% หลังเปิดเผยผลประกอบการต่ำกว่าคาด และหุ้นแคเทอร์พิลลาร์ ร่วงลงราว 5% แม้เปิดเผยผลกำไรสูงเกินคาดก็ตาม

บรรดานักลงทุนยังคงมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4 ของบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัท 168 แห่งในดัชนี S&P500 รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่ง 77% รายงานผลประกอบการที่สูงเกินคาด

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยในวันศุกร์นั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 4.9% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2526 หลังจากเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนธ.ค. หลังจากดีดตัวขึ้น 0.5% เช่นกันในเดือนพ.ย.

ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.8% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2525 หลังจากดีดตัวขึ้น 5.7% ในเดือนพ.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค. จากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย.

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 67.2 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2554 จากระดับ 70.6 ในเดือนธ.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 68.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด เพิ่มขึ้น 1.0% ในไตรมาส 4/64 เมื่อเทียบรายไตรมาส แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.3% ในไตรมาส 3 และ เมื่อเทียบรายปี ดัชนี ECI พุ่งขึ้น 4.0% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 จากระดับ 3.7% ในไตรมาส 3

การดีดตัวของดัชนี ECI ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้น 1.1% ของค่าจ้างและเงินเดือน เมื่อเทียบรายไตรมาส หลังจากเพิ่มขึ้น 1.5% ในไตรมาส 3 และเมื่อเทียบรายปี ค่าจ้างและเงินเดือนเพิ่มขึ้น 4.5% ในไตรมาส 4/2564

ทั้งนี้ ดัชนี ECI ถือเป็นมาตรวัดที่น่าเชื่อถือในการชี้วัดตลาดแรงงาน และเป็นดัชนีคาดการณ์ที่ดีสำหรับอัตราเงินเฟ้อซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top