กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 4.0% จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 4.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.5 – 4.5%) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 4.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.0 – 5.0%)
ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัว หลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 1,536% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 1,217% ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.1 – 4.1%) ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐ จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่าง ๆ
โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.7 – 1.7%) และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.2 – 4.2%) ทั้งนี้ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 5.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 4.5 – 5.5%) ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.9% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.4 – 2.4%) และยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันกำหนดที่ระดับ 1.0 – 3.0% ต่อปี
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต 2) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
3) ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง 4) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ และ 5) ราคาพลังงานและน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง จะได้มีการติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ
ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.9 – 1.4%) ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนตุลาคม 2564 ที่ 1.0% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้น และการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 0.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ -0.1 ถึง 0.4%) และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.7% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.4 – 3.9%) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 19.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 18.7 – 19.2%) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) ที่ทยอยคลี่คลายลง
ด้านนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สศค. กล่าวว่า สมมติฐานสำคัญ 5 ด้าน ที่กระทรวงการคลังใช้ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2565 มีดังนี้
1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลัก ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% เป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 แต่ในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดทั่วโลก ที่แม้จะไม่รุนแรงเท่าปีก่อน แต่ประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เต็มที่ ประกอบกับหลายประเทศอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้องตามมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดในประเทศที่สำคัญ เช่น จีน และสหภาพยุโรป ที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกได้
2. อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท คาดว่าในปี 2565 เงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33.10 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลง 3.4% จากในปีก่อน ที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 32.00 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทในปีนี้ ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดเริ่มคลี่คลาย และประชาชนในประเทศได้รับวัคซีนป้องกันโควิดกันมากขึ้น ขณะเดียวกันเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ยังมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มากขึ้นจากแนวโน้มรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมากขึ้น หลังการเปิดประเทศ ขณะเดียวกัน เงินบาทยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ สถานการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศ
3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดว่าในปี 2565 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 72.50 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.8% พร้อมคาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันจะเพิ่มสูงกว่าความต้องการบริโภคตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีผลให้ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565
4. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 1,536% สร้างรายได้การท่องเที่ยวให้ประเทศราว 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,217% เป็นผลจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ประกอบกับในประเทศมีการบริหารจัดการวัคซีนได้ดี ทำให้คนไทยได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงกว่าในปีก่อน
5. รายจ่ายภาคสาธารณะ คาดว่าในปีงบประมาณ 2565 จะมีการเบิกจ่ายได้ 93.2% ที่วงเงิน 2.89 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 2.40 ล้านล้านบาท และงบรายจ่ายลงทุน 4 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 65)
Tags: GDP, lifestyle, กระทรวงการคลัง, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจไทย