พาณิชย์ เผยยอดเปิดบริษัทใหม่ปี 64 เพิ่ม 15% คาดปีนี้เพิ่มอีก 7-7.5 หมื่นราย

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจปี 2564 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ 72,958 ราย เมื่อเทียบกับปี 2563 จำนวน 63,340 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 9,618 ราย คิดเป็น 15%

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกของปี 2564 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 7,029 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 3,386 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 2,258 ราย คิดเป็น 3% มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 229,808.51 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 จำนวน 235,278.75 ล้านบาท ลดลงจำนวน 5,470.22 ล้านบาท คิดเป็น 2.32%

โดยในเดือนธันวาคม 2564 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ 3,705 ราย เพิ่มขึ้น 13% เดือนธันวาคม 2563 ที่มี 3,287 ราย แต่ลดลง 34% จากเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่มี 5,642 ราย

โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวนรวม 18,301.28 ล้านบาท ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 390 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 250 ราย คิดเป็น 7% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจในภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 126 ราย คิดเป็น 3% ตามลำดับ

นายทศพล กล่าวว่า เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในปี 2564 พบว่า ในหลายธุรกิจสอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 194 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 8.2 เท่า และธุรกิจสร้างแม่ข่าย มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 439 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.7 เท่า รวมถึงนโยบายการผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของภาครัฐ ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ธุรกิจปลูกอ้อย มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 52 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 51 เท่า และธุรกิจให้เช่าเครื่องจักร และอุปกรณ์ทางเกษตร มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 82 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 15.4 เท่า

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียน ส่วนหนึ่งมาจากการระดมฉีดวัคซีนในปีที่ผ่านมา การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ และหลายธุรกิจสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 70,000 – 75,000 ราย

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ

ภาพรวมในปี 2564 มีจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ 19,326 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 384,376.83 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,535 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,035 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 575 ราย คิดเป็น 3%

สำหรับในเดือนธันวาคม 2564 มีจำนวน 5,709 ราย ลดลง 5% จากเดือนธันวาคม 2563 ที่เลิกกิจการ 6,103 ราย แต่เพิ่มขึ้นถึง 97%จากเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่เลิกกิจการ 2,892 ราย

โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 22,243.95 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 450 ราย คิดเป็น 8% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 245 ราย คิดเป็น 4% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 149 ราย คิดเป็น 3%

ดังนั้น จึงส่งผลให้มีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 64) จำนวน 809,110 ราย มูลค่าทุน 19.57 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 196,530 ราย คิดเป็น 24.29% บริษัทจำกัด จำนวน 611,262 ราย คิดเป็น 75.55% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,318 ราย คิดเป็น 0.16%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top