ผลการศึกษาชี้วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของจีนปลอดภัย-มีประสิทธิภาพ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต ไมโครบ (Lancet Microbe) เมื่อวันอังคาร (25 ม.ค.) ระบุว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยจีน แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัย ความต้านทาน และประสิทธิภาพ ระหว่างการทดลองในมนุษย์ระยะแรก

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “เออาร์โควี” (ARCoV) ซึ่งจะผลิตโปรตีนหนามที่ทำหน้าที่จับตัวรับบนผิวเซลล์ (RBD) โดยเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AMMS) บริษัท ซูโจว อ้ายโป๋ ไบโอไซเอนซ์ (AbogenBio) และบริษัท วาลแวกซ์ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด (Walvax Biotechnology)

คณะวิจัยดำเนินการทดลองระยะแรกที่โรงพยาบาลในนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียงระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-2 ธ.ค. 2563 โดยมีผู้ใหญ่สุขภาพดีอายุ 18-59 ปี จำนวน 120 คนซึ่งมีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นลบ เข้าร่วมการทดลองดังกล่าว โดยใช้ทั้งวิธีการแบบสุ่ม แบบอำพรางสองฝ่าย และแบบควบคุมด้วยยาหลอก

ขั้นตอนการทดลองประกอบด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 2 โดสในปริมาณที่แตกต่างกัน ได้แก่ 5, 10, 15, 20 และ 25 ไมโครกรัม

ผลการศึกษาชี้ว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ปริมาณ 15 ไมโครกรัม สามารถกระตุ้นค่าไตเตอร์ (Titer) หรือแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์มากที่สุด ซึ่งสูงกว่าค่าไตเตอร์แอนติบอดีของผู้ป่วยที่กำลังหายดีจากโรคโควิด-19 ราว 2 เท่า บ่งชี้ถึงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอันแข็งแกร่งที่เกิดจากวัคซีนตัวนี้

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในการทดลองระยะแรกแสดงข้อมูลความปลอดภัยที่ยอมรับได้ และกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอันแข็งแกร่งในผู้เข้าร่วมทดลอง ทั้งยังไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงใด ๆ เกิดขึ้นภายใน 56 วัน หลังรับวัคซีน

ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิดฝีมือจีนตัวใหม่นี้อยู่ระหว่างการทดลองประสิทธิภาพในมนุษย์ระยะที่ 3 ในหลายภูมิภาคและมีผู้เข้าร่วมทดลองมากขึ้น

ปัจจุบัน จีนเริ่มสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่เมืองอวี้ซี มณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อเดือนธ.ค. 2563 โดยคาดว่ากำลังการผลิตระยะแรกจะอยู่ที่ราว 120 ล้านโดสต่อปี

กลุ่มนักพัฒนาระบุว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “เออาร์โควี” ถูกผลิตขึ้นในรูปของเหลวและสามารถเก็บรักษาในตู้เย็นมาตรฐาน (2-8 องศาเซลเซียส) ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งและใช้งาน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top