นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงประเด็นการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ว่า จากการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศ ได้แก่ BA.1 และ BA.2 โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 ตรวจพบรายแรกตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 และได้รายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ส่วน BA.3 ยังไม่พบในประเทศไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการรายงานในระบบฐานข้อมูล GSAID ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ว่า พบสายพันธุ์ BA.2 รวม 6 ราย และได้เพิ่มเติมเข้าไปอีก 8 ราย ซึ่งกว่าที่ระบบจะ submit ข้อมูลก็คาดว่าจะในอีก 1-2 วันนี้ รวมทั้งหมดคือ 14 ราย
สำหรับผู้ป่วยโควิด 14 รายที่พบสายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้น เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ส่วนอีก 5 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีเสียชีวิต 1 ราย คือ หญิงไทย ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ และป่วยติดเตียงในจังหวัดทางภาคใต้
“ในภาพรวม เราส่งข้อมูลโอไมครอน 7 พันเรคคอร์ด ให้กรมการแพทย์ไปติดตาม ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็น 0.1% อัตราการตายค่อนข้างต่ำ”
นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบการกลายพันธุ์บน spike โปรตีน ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3
จากการติดตามสถานการณ์ระบาดและการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 ในประเด็นความสามารถในการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนมาก่อน
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์ในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยเทคโนโลยีการตรวจการกลายพันธุ์ (SNP genotyping assay, Targeted sequencing, Whole genome sequencing) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ซึ่งพบสายพันธุ์ที่น่ากังวลในประเทศไทย (Variant of Concerns; VOC) ได้แก่ อัลฟา, เบตา, เดลตา
จนกระทั่งพบสายพันธุ์โอมิครอน รายแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 โดยเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง K417N, T478K, N501Y และ del69/70 แต่ไม่พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นรูปแบบการกลายพันธุ์รูปแบบหนึ่งของสายพันธุ์โอมิครอนโดยในช่วงแรกประเทศไทยยังคงพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และประมาณ 3 สัปดาห์ต่อมา เริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศ โดยเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่พบในคลัสเตอร์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่ตรวจพบในประเทศนั้น จากข้อมูลในขณะนี้ยังไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล เนื่องจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่ได้เหนือไปกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 อย่างเห็นได้ชัด เพราะถ้าเห็นได้ชัดเจน การระบาดในสายพันธุ์ย่อย BA.2 ก็คงจะมีมากกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 ไปแล้ว แต่ในปัจจุบันยังพบว่าการระบาดของโอมิครอนส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 เพียงแต่จะต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เพิ่มเติมว่าจะมีสายพันธุ์ BA ย่อยๆ อีกหรือไม่
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจจะยังน้อยเกินไปที่จะสรุปว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะสามารถแพร่กระจายได้เร็วหรือไม่ เพราะสัดส่วนการตรวจพบยังมีไม่มาก โดยพบเพียง 2% เท่านั้น แต่หากในอนาคตสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 5% 10% ก็อาจจะต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไป
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังกล่าวด้วยว่า ในท้ายสุดแล้วถ้าการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาถูกแทนด้วยสายพันธุ์โอมิครอน ก็จะทำให้ไวรัสเดลตาที่กลายพันธุ์จะไม่มีความหมาย ซึ่งหลังจากนี้ จะต้องจับตาดูสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนแทนว่าจะมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมอีกหรือไม่ แต่ยืนยันว่าประเทศไทยมีกระบวนการตรวจจับการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วและเพียงพอ
“คาดว่าเดือน ก.พ.จะเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่ เพราะแพร่เร็ว แต่ความรุนแรง หรือป่วยหนัก เสียชีวิตจะมีน้อย แต่ย้ำว่าต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ เพราะคนได้วัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสเสียชีวิตจะมีน้อยมาก”
นพ.ศุภกิจ กล่าว
ส่วนสถานการณ์ของทั่วโลกที่มีการรายงานข้อมูลไว้ใน GSAID นั้น ตรวจพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ประมาณ 10,000 ราย ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ประมาณ 420,000 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 40 ซึ่งถือว่ายังไม่มาก ยกเว้นในเดนมาร์กที่มีรายงานการพบสายพันธุ์ย่อย BA.2 ในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่วนในประเทศไทยที่เจอ 14 ราย จากทั้งหมด 1 หมื่นกว่ารายทั่วโลก ก็ถือว่าสัดส่วนยังน้อย แต่ก็ต้องติดตามในสัปดาห์ถัดไปว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากน้อยเพียงใด
“BA.2 คงไม่เหนือกว่า BA.1 อย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่เช่นนั้นในช่วงที่โอมิครอนระบาดไปทั่วโลก 1-2 เดือน BA.2 คงต้องแซง BA.1 ขึ้นไปมากแล้ว แต่ตอนนี้จำนวนยังไม่เยอะ อย่างไรก็ดี คงต้องรอดูต่อไป…ส่วนการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK และ RT-PCR ยังสามารถทำได้ตามปกติ ยังสามารถตรวจจับสายพันธุ์ BA.2 ได้ไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล”
นพ.ศุภกิจกล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวด้วยว่า เมื่อการระบาดของโควิดเบาบางลง ก็มีแนวโน้มที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่ แต่คงไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน
“สภาพธรรมชาติจะบอกให้เห็นเอง เริ่มจากที่ไม่มีใครเสียชีวิต การติดเชื้อไม่รุนแรง ต่อไปมาตรการก็จะปรับไปตามสถานการณ์ เช่นไม่ต้องตรวจหาเชื้อแล้ว อาจจะเหมือนไข้หวัดใหญ่ ป่วยก็ไปรักษา แต่วันไหนที่จะยุติคงบอกไม่ได้ เพราะเรายังกลัวว่า เมื่อใดที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่ใช่โอมิครอน และพฤติกรรมไม่ใช่แค่แพร่เร็วอย่างเดียว อาจจะรุนแรงกว่านี้ แต่เราก็ไม่หวังว่าจะเป็นแบบนั้น เพราะประวัติที่ผ่านมา มันจะคลี่คลาย และอยู่ร่วมกันได้”
นพ.ศุภกิจ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โควิด-19, โอมิครอน