CKP ปักเป้าโตเท่าตัวใน 3 ปีรุกเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนอีก 2,800 MW

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) ประกาศว่า บริษัทมีแผนขยายขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าเท่าตัว ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นอีกประมาณ 2,800 เมกะวัตต์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ทั่วโลกหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งให้เป็น 4,800 เมกะวัตต์ภายในปี 67 โดยโครงการใหม่ทั้ง 6 นี้ จะเป็นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ กำลังการผลิตติดตั้งใหม่ทั้งหมดของเราจะมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม

และภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า CKP จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นอีกกว่าสิบเท่าตัว หรือที่ 330 เมกะวัตต์ นอกจากนั้น ภายในระยะเวลาเดียวกัน ก็จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมขึ้นอีกสองเท่า กลายเป็น 700 เมกะวัตต์ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้ 95% ของไฟฟ้าที่บริษัทผลิตทั้งหมด มาจากการใช้พลังงานหมุนเวียน

บริษัทมองว่ามีโอกาสใหม่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลจากการที่ทั่วโลกหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีมติเห็นชอบในข้อตกลง Glasgow Climate Pact ด้วยการที่ประเทศต่างๆ ตัดสินใจร่วมมือกัน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และกำหนดให้ปี 63 เป็นปีเริ่มต้นของการเดินหน้าภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก และส่งผลในเชิงบวกต่อกลยุทธ์ธุรกิจระยะยาวของซีเค พาวเวอร์

“ตามแผนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเรา เราตั้งเป้าที่จะเข้าไปขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ในต่างประเทศผ่าน 3 การลงทุนใหม่ ซึ่งทุกโครงการจะใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากประสบการณ์ที่ยาวนานของเราในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน จะส่งผลให้เราได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทรนด์การผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคต และในขณะเดียวกัน การที่เราเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีระดับคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง จะทำให้เรามีส่วนช่วยสนับสนุนเรื่องการลดคาร์บอนของประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยเช่นกัน”

นายธนวัฒน์ กล่าว

ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ประมาณ 20% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด สำหรับประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานน้ำ จาก 9% เป็น 18%ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้ ในขณะที่ภายในปี 73 ประเทศไทยตั้งเป้าให้ 30% ของรถยนต์ใหม่ เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และภาคการขนส่งจะกลายเป็นผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน นำหน้าภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ปัจจัยส่งเสริมให้ความต้องการไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ได้แก่ การที่รัฐบาลและบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันมากยิ่งขึ้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ในฐานะเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ นอกเหนือไปจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top