ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,718 ราย ประกอบด้วย
– ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,476 ราย
– จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 21 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 69 ราย
– ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 152 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 2,032 ราย
– เสียชีวิต 12 ราย เป็นเพศชาย 9 ราย เพศหญิง 3 ราย อายุเฉลี่ย 69 ปี (อายุระหว่าง 50-94 ปี) แยกเป็น อายุ 60 ปี ขึ้นไป 7 ราย คิด เป็น 58% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 3 ราย คิดเป็น 25% และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย คิดเป็น 17% โดยเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 5 ราย และได้รับวัคซีนยังไม่ครบ 3 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 2,391,357 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 7,659 ราย ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ 81,532 ราย อาการหนัก 548 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 114 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 22,057 ราย
จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,269 ราย, สมุทรปราการ 556 ราย, นนทบุรี 411 ราย, ภูเก็ต 354 ราย, ชลบุรี 314 ราย, ขอนแก่น 247 ราย, ปทุมธานี 228 ราย, เลย 152 ราย, นครราชสีมา 144 ราย, ศรีสะเกษและอุดรธานี จังหวัดละ 118 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 354,904,903 ราย เสียชีวิต 5,622,314 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา 72,958,690 อันดับ 2 อินเดีย 39,543,328 ราย อันดับ 3 บราซิล 24,134,946 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 16,800,913 ราย และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร 15,953,685 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 26
พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศบค.ชุดเล็ก มีความเป็นห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินวันละ 1 พันรายต่อเนื่องกัน 6 วันแล้ว โดยพบคลัสเตอร์ในค่ายมวยในเขตบางกอกน้อย 11 ราย เนื่องจากมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน ใช้เครื่องออกกำลังกายร่วมกันโดยไม่มีการทำความสะอาด ไม่มีมาตรการคัดกรองบุคคลภายนอก ไม่ตั้งจุดแอกลฮอล์ทำความสะอาด ไม่มีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนอีกจำนวนมาก ได้แก่
– กลุ่มสถานประกอบการในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี สุโขทัย กาญจนบุรี และพระนครศรีอยุธยา
– กลุ่มพิธีกรรมทางศาสนา ได้แก่ งานศพในจังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น งานแต่งในจังหวัดน่านและศรีสะเกษ
– กลุ่มตลาดสดในจังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ และมุกดาหาร
– กลุ่มร้านอาหารและสถานบันเทิงในจังหวัดจันทบุรี ร้อยเอ็ด และอุดรธานี
– ค่ายทหารและตำรวจในจังหวัดลพบุรีและมุกดาหาร
– สถานพยาบาลในกรุงเทพฯ 22 ราย นนทบุรี 7 ราย อุบลราชธานี 6 ราย ชลบุรี 5 ราย และสมุทรปราการ 5 ราย ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่าเป็นการติดเชื้อจากครอบครัว ญาติ และเพื่อนสนิท
สำหรับประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้น มีผลศึกษาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยช่วยลดความเสี่ยงของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่จะต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินหรือโอกาสที่จะต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาได้ 94% และช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนได้ 82%
ส่วนในประเทศไทยมีผลศึกษาในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และศรีสะเกษ พบว่า สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ 79-98% ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ถึง 99-100%
“จากเหตุการณ์ที่กาฬสินธุ์ พบว่าการฉีดเข็มสามมีประสิทธิภาพ ช่วยป้องกันติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ 80-90% และวัคซีนทุกสูตร สามารถป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 90-100%”
พญ.สุมณี กล่าว
ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี โดยเป็นวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก เริ่มจากจัดสรรให้กับ 7 กลุ่มโรคเสี่ยงก่อนที่สถานพยาบาล หลังจากนั้นล็อตต่อไปจะจัดสรรผ่านสถานศึกษา โดยเริ่มจากเด็กชั้น ป.6 แล้วลดหลั่นลงไป
นอกจากนี้ ขอย้ำให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 จากกิจกรรมในช่วงเทศกาลตรุษจีน ได้แก่ การรวมตัวของญาติพี่น้องเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษและสังสรรค์, การเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของเซ่นไหว้, การเดินทางไปร้านอาหารเพื่อพบปะสังสรรค์ และการเดินทางไปศาสนาสถานเพื่อกราบไหว้ขอพร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, ศบค., โควิด-19