บรรดานักวิเคราะห์เปิดเผยว่า การส่งออกจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ตลาดในประเทศยังคงซบเซา
แมตตี้ บีคิงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายจีนของ Economist Intelligence Unit ระบุว่า บรรดาผู้นำจีนได้กล่าวมาหลายปีแล้วว่า พวกเขาต้องการเปลี่ยนจากการผลักดันด้านการส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไปเป็นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
นางบีคิงค์ให้สัมภาษณ์กับรายการ “Squawk Box Asia” ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า “แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เกิดโรคระบาดอย่างแน่นอน ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับการกลับมาใช้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งออกแบบเดิม ขณะที่การบริโภคชะลอตัว”
นางบีคิงค์ระบุว่า “สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า เมื่อปี 2563 ยอดการส่งออกสุทธิมีส่วนแบ่งในการขยายตัวของ GDP จีนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 และการบริโภคก็ยังไม่ฟื้นตัวตามแนวโน้มก่อนโรคโควิด-19 แพร่ระบาด”
นอกจากนี้ ข้อมูลศุลกากรจาก Wind Information ระบุว่า แม้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจะหยุดชะงักในช่วงที่เกิดโรคระบาด แต่ยอดเกินดุลการค้าปี 2564 ของจีนปรับตัวขึ้นสู่ 6.7643 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5.2399 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2563 และสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2493
ขณะเดียวกัน นางเซร์ลีนา เจิ้ง นักวิเคราะห์ด้านสินเชื่ออาวุโสประจำ CreditSights กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า “ยอดส่งออกยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจจีนในปี 2565”
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า เศรษฐกิจจีนปี 2564 ขยายตัว 8.1% เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ส่วน GDP ในไตรมาส 4/2564 เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 65)
Tags: จีน, ส่งออก, เศรษฐกิจจีน