นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการให้บริการวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 (เข็มกระตุ้น) โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 (กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ เดินหน้าฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นทุกสูตรวัคซีน
สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ขอให้เร่งเข้ารับบริการวัคซีน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังได้จัดส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ลงชุมชน เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับกลุ่มผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมายังจุดบริการวัคซีน และกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง
รวมทั้งเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของสมาชิกในครอบครัว ทั้งผู้ดูแล หรือผู้ที่ต้องใกล้ชิดผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค กลุ่มเปราะบาง หญิงตั้งครรภ์ ให้ปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ และการติดเชื้อโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ พร้อมแนะนำให้ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทุกสัปดาห์ หากพบผู้ติดเชื้อให้แยกผู้ติดเชื้อ และแจ้งสายด่วน 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา
สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ทั้งในและนอกโรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานครดูแลรับผิดชอบ ขณะนี้มีหลายแห่งที่เปิดให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (เข็มกระตุ้น) เช่น อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง หรือโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง ซึ่งในอนาคตอยู่ระหว่างการเพิ่มจุดให้บริการวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมเข้าถึงประชาชน และอำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นให้มากที่สุด อีกทั้งเพิ่มความสะดวกในการลงทะเบียนขอรับวัคซีนโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน QueQ โดยติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรุงเทพมหานคร
ด้านนางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัยได้อำนวยความสะดวกให้ประชาชน เข้ารับบริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยจัดหน่วยบริการ ประกอบด้วย
1. ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง
2. โรงพยาบาลสังกัด กทม. 11 แห่ง
3. ศูนย์ฉีดวัคซีน อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง และจัดหน่วยเชิงรุก ประกอบด้วย
-Bangkok Mobile Vaccine ร่วมกับโรงพยาบาลศุขเวช (BMV)
-ทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน (Bangkok Comprehensive COVID-19 Response Team : CCRT) โดยศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง เข้าฉีดวัคซีนให้ที่บ้าน
-หน่วยเชิงรุกกลุ่มเปราะบาง เข้าฉีดวัคซีนให้ที่บ้านในกลุ่มติดบ้านติดเตียง และลงฉีดที่สถานดูแลผู้สูงอายุ ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ผู้สูงอายุ และสถานพยาบาล Nursing home
ทั้งนี้ ได้แจ้งประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ครบกำหนด ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่จุดฉีดวัคซีนของ กทม. ทั้งในและนอกโรงพยาบาล และแจ้งระบบลงทะเบียนนัดหมายเข้ารับบริการฉีดวัคซีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยโรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการวัคซีนมี 129 แห่ง ศักยภาพการฉีดโดยรวม 67,375 คน/วัน
นอกจากนี้ ยังได้ขยายจุดฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล โดยจุดฉีดที่ร่วมกับ กทม. และเปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ Thai PBS ร่วมกับโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จองผ่าน QueQ และ Group Vaccination วันละ 500 คน Central World ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ Platform วงเวียนใหญ่ ร่วมกับโรงพยาบาลตากสิน
ส่วนจุดฉีดนอกสถานพยาบาลที่ร่วมดำเนินการ โดยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายอื่นๆ เช่น กรมการแพทย์ สถานีกลางบางซื่อ ร่วมกับสถาบันโรคผิวหนัง จองผ่านระบบเครือข่ายมือถือ ซึ่งสามารถรองรับผู้รับบริการได้ 15,000 – 25,000 คน/วัน ศูนย์ฉีดวัคซีนบางรัก และหน่วยฉีดห้างแฟชั่น ไอส์แลนด์ ร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี
ทั้งนี้ ได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เข้ารับบริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ตามแนวทางและข้อแนะนำที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) สาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนด เพื่อความปลอดภัยจากโรคโควิด-19
ในขณะเดียวกัน ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงระบบการจองวัคซีนและเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 65)
Tags: ฉีดวัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, สำนักการแพทย์, สุขสันต์ กิตติศุภกร