กกร. มองโอมิครอนกระทบศก.ไทยระยะสั้น คง GDP ปี 65 โต 3-4.5%

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยระยะสั้นเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป

ดังนั้น กกร. จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 ไว้ตามเดิมที่โต 3-4.5% การส่งออก โต 3-5% เงินเฟ้อ 1.2-2%

“ถึงแม้โอมิครอนจะแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 หมื่นราย/วัน เรามั่นใจในระบบสาสธารณสุขของประเทศที่มีความพร้อม โอมิครอนไม่ส่’ผลกระทบรุนแรงถึงขึ้นต้องล็อกดาวน์ คงเป็นช่วงสั้นๆ ในไตรมาสแรก หากไม่เกิดปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2” นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. ระบุ

ประธาน กกร. กล่าวว่า ผลจากโอมิครอนจะกระทบการท่องเที่ยวในประเทศไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากความรุนแรงของโรคที่ลดลง และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มปรับตัวได้กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และยังให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวในประเทศในระดับสูง ส่วนนักเดินทางต่างชาติ คาดการณ์ว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในปลายไตรมาส 1 โดยตลอดทั้งปี ประเมินจำนวนนักเดินทางเข้าประเทศประมาณ 5-6 ล้านคน

ทั้งนี้ กกร.มีข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ในเรื่อง Regulatory Guillotine กกร.เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ โดยในปี 2560 กกร.ได้ร่วมกับรัฐบาลดำเนินโครงการดังกล่าว และได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่ TDRI ต่อมาภาครัฐได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน (คณะอนุกิโยติน) ซึ่งมี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก กกร. ร่วมเป็นกรรมการ เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินการ โดยคณะอนุกิโยตินได้รายงานความคืบหน้าว่าในปีงบประมาณ 2564 หน่วยงานราชการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายเสร็จได้ 38.76% มีผลงานปลดล็อคกฎหมายที่สำคัญ เช่น หลักเกณฑ์การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การกำกับดูแลบริการรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านระบบแอปพลิเคชัน การกำกับดูแลบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) ข้อเสนอสำคัญที่ควรเร่งผลักดันเพื่อให้การปฏิรูปกฎหมายโดยใช้เครื่องมือ Regulatory Guillotine ในระยะต่อไปเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเห็นว่าควรเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ ดังนี้

  1. ให้ภาครัฐเร่งนำผลการศึกษาและข้อเสนอของ TDRI ไปดำเนินการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายลำดับรองที่ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา
  2. ให้จัดตั้งหน่วยงานหรือมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ Regulatory Guillotine โดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา และมีจำนวนที่เพียงพอ เหมือนช่วงทำ Pilot Project
  3. ให้นำแนวคิดเรื่อง Omnibus Law ซึ่งแก้ไขกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและอุปสรรค (Issue-based) ในคราวเดียว เช่น ปัญหากฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว โดยออกเป็น Omnibus Law ฉบับเดียวแทนการแก้ไขกฎหมายแบบเดิมที่แก้ไขเป็นรายฉบับทำให้ขาดความสอดคล้องกัน ซึ่งแนวคิด Omnibus Law นี้ ประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มใช้และประสบผลสำเร็จมาแล้วตั้งแต่ปี 2564

คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีผลงานในการนำเสนอปรับปรุงกฏหมายต่างๆ จำนวนมาก กกร.จึงทำข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการประกอบอาชีพของประชาชน เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวนกว่า 40 ข้อเสนอ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ได้นำเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

โดย กกร.เห็นว่ามีข้อเสนอที่ควรเร่งผลักดันเสนอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในช่วงการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19

  1. ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลองค์กรทางธุรกิจ SMEs และ Startup
  2. ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว
  3. ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
  4. ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการค้าของเก่าและการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (reuse and recycle)

กกร.ยังเสนอให้กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564 วันที่ 13 ธ.ค.64 ซึ่งใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 มีความไม่ชัดเจน ทำให้อัตราการจัดเก็บไม่ได้ลดลง 90% ตามข้อเสนอของ กกร. และอัตราการจัดเก็บยังเป็นไปตามอัตราเดิมเช่นเดียวกับที่เคยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาตรา 94 โดยมาตรการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายลง แต่เนื่องจากปัจจัยปัญหาด้านสาธารณสุขและปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2563 และปี 2564 ยังคงมีผลกระทบต่อไปในปี 2565-2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

โดย กกร.จะเสนอไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี โดยขอพิจารณาออก พ.ร.ก.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ เพื่อลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินลงอีก 90% ตามมาตรา 55 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศในทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ควรมีกลไกหรือนโยบายสนับสนุนการสร้างรายได้ควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรอบด้าน และสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับครัวเรือนอย่างยั่งยืน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะต้องให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้มีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ให้สามารถพึ่งพาตัวเอง ให้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรม และไม่พึ่งพาหนี้นอกระบบ

ส่วนปัญหาค่าครองชีพในขณะนี้เป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง และมีความอ่อนไหวสูง แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และอยู่ในระดับที่ดีหากเทียบกับประเทศอื่น และหวังว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

“ยอมรับว่ากังวล แต่ยังมีโอกาสที่จะฟื้นตัว เนื่องจากขณะนี้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็มีเครื่องมือหลายตัวในการแก้ไขปัญหา และมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด” นายผยง กล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ตนเองเป็นห่วง คือการกำหนดมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ของภาครัฐควรมีความชัดเจน ไม่เกิดความลักลั่น จนทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาครัฐยังสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนไว้ได้ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และเชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว ขณะที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ช้อปดีมีคืน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจราว 1-1.3 แสนล้านบาท

ส่วนปัญหาค่าครองชีพนั้น อาจส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 1.5-2% แต่หลังจากมีการแก้ไขปัญหา เช่น การเพิ่มปริมาณหมูเข้ามาในระบบ การลดต้นทุนอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาราคาหมูแพง และมีมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์ในสุกร คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

“บ้านเราโชคดีที่มีโปรตีนชนิดอื่นมาเป็นทางเลือก ขณะที่ตลาดและผู้บริโภคมีการปรับตัวได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม คิดว่าราคาหมูคงไม่แพงไปกว่านี้” นายธนวรรธน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top