คมนาคม สรุปจัดทำงบ’ปี 66 วงเงิน 3.24 แสนลบ.เน้นก่อสร้างโครงการหลัก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างคำของบประมาณบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ วงเงินรวมทั้งสิ้น 324,233.32 ล้านบาท แบ่งเป็น

ด้าน Hard Side จำนวน 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.) , กรมเจ้าท่า, (จท.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ), กรมท่าอากาศยาน (ทย.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน(รฟม.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวม 85 โครงการ วงเงิน 322,361.8297 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.30

โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 บางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา/ M81 บางใหญ่ – กาญจนบุรี/ M7 ส่วนต่อขยายเข้าสนามบินอู่ตะเภา/ หมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนบางบัวทอง – บางปะอิน, โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี – ปากท่อ (ถนนพระราม 2), โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา, พัทลุง, โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา จ.กระบี่, ถนนสาย ผังเมืองรวมเมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร, โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – นครพนม และสายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ เป็นต้น

ด้าน Soft Side จำนวน 22 หน่วยงาน (สปค./ขบ./จท./สนข./ขร./สตช./วว./สศช./สวทช./กรมป่าไม้/กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์/กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม/กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ/กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน/กรมศุลกากร/องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก/สถาบันมาตรวิทยา/ม.นเรศวร/ม.ราชภัฏเชียงราย/ม.ราชภัฏอุดรธานี/ม.เชียงใหม่/มทร.ล้านนา) 49 โครงการ วงเงิน 1,871.4903 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.70

โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนส่งไทยสู่การขนส่งสินค้าทางถนนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน, โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง, โครงการยกระดับมาตรฐานเครื่องตรวจจับความเร็วเพื่อการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมอุบัติเหตุทางถนน, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องแม่ข่ายเพื่อรองรับภารกิจนำเข้า-ส่งออกไม้ผ่าน NSW ของประเทศไทย, โครงการเสริมสร้างความสามารถการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน, โครงการพัฒนาแบบจำลองการคำนวณต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยแบบล่วงหน้า (Predictive Model), โครงการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์, และการจัดหาเครื่องชั่งน้ำหนัก และอุปกรณ์ด้านการจราจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการค้าและการบริการระหว่างประเทศ ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เป็นต้น

นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาคำของบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งได้มีการพิจารณากลั่นกรองตามแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย

ด้านนโยบาย (1) เป็นโครงการลักษณะยุทธศาสตร์ สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนฯ 13 นโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ (2) ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) และให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน Soft Side (3) เป็นโครงการตามภารกิจหลักของหน่วยงานตามยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องไม่ใช่ภารกิจปกติหรือภารกิจประจำ (4) หน่วยงานที่มีโครงการ/รายการผูกพันเกิน 1 ปี วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องนำเสนอ ครม. อนุมัติก่อนขอรับการจัดสรร (5) สนับสนุนเป้าหมายและผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะ และ (6) นำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯในปีที่ผ่านมาใช้เป็นแนวทางในการขอรับจัดสรรงบประมาณ

และด้านแนวทางการจัดทำโครงการ (1) เป็นโครงการที่สำคัญและจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องมีความพร้อมในการดำเนินงาน (2) โครงการ/รายการที่แก้ไขปัญหา บรรเทา หรือแก้ไขผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมและเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ COVID – 19 (3) โครงการ/รายการที่สนับสนุนพื้นที่ที่มีศักยภาพและเขตพัฒนาพิเศษในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการสนับสนุนจุดเชื่อม ไทย – สปป.ลาว – จีน (หนองคาย/เชียงราย) และสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศให้เข้าสู่ตลาดจีนและกลุ่มประเทศ CLMV

(4) โครงการ/รายการที่สนับสนุนการลงทุนพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์ และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (5) ไม่สนับสนุนการจัดซื้อครุภัณฑ์หรือการจัดตั้งศูนย์ฯ ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายได้อย่างแท้จริง (ให้ความสำคัญครุภัณฑ์ที่สนับสนุนการพัฒนา/รองรับนวัตกรรม) และ (6) ไม่สนับสนุนงานวิจัย หรือพัฒนาบุคลากรที่ตอบสนองเพียงพื้นที่เดียว ควรมีการบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกันหลายหน่วยงาน และเป็นการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเชี่ยวชาญสูง

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้มีข้อสั่งการและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. การพิจารณาโครงการของทุกหน่วยงาน จะต้องมีความพร้อมในทุกมิติ เมื่อได้รับการอนุมัติงบประมาณเรียบร้อยแล้ว ต้องพร้อมดำเนินการทันที

2. ควรมีการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งผลการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อเป็นตัวชี้วัด

การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานผู้ปฏิบัติ

3. ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริงและการสร้างข่าวปลอมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

4. ขอให้มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องกับโครงการ

ขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่ใช้เงินนอกงบประมาณ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการระบบราง ที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำสรุปข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ นำเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 14 มกราคม 2565 ตามขั้นตอนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top