นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงแผนรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก ม.ค. 65 (สายพันธุ์โอมิครอน) แบ่งเป็น 1. มาตรการสาธารณสุข โดยการชะลอการระบาด ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทานให้ประชาชน และคัดกรองตนเองด้วย Antigen Test Kit (ATK) พร้อมติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์
2. มาตรการการแพทย์ ระบบสายด่วนประสานการดูแลผู้ติดเชื้อ ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน (Home Isolation:HI/Community Isolation:CI) ช่องทางด่วนส่งต่อเมื่อมีอาการมากขึ้น และเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์
3. มาตรการสังคม ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) และสถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด (COVID Free Setting)
4. มาตรการสนับสนุน ค่าบริการรักษาพยาบาล ค่าตรวจต่างๆ
“สำหรับจำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 ยังมีเพียงพอการรักษาประชาชนทุกคน โดยมีสำรองอยู่ที่ 158,861,856 เม็ด ส่วนชุดตรวจ ATK องค์การเภสัชกรรมยืนยันว่ายังมีจำหน่ายเพียงพอ อยู่ที่ประมาณ 7 ล้านชิ้น ราคาอยู่ที่ 35-40 บาท”
นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นไปตามการคาดการณ์ที่เคยคาดไว้ คืออยู่ในระดับสูงสุด ส่วนอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำสุด เนื่องจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนมีความรุนแรงของเชื้อลดลง แต่แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น ดังนั้นในปีนี้ สธ. จึงมีแผนดำเนินการให้โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยโรคมีความรุนแรงลดลง มีการชะลอการแพร่ระบาด และมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า แนวทางการวินิจฉัยโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรมากที่สุด หากสงสัยว่าติดเชื้อ จะเน้นการตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นหลัก หากผลเป็นบวก และไม่มีอาการ หรืออาการน้อย และไม่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ เช่น โรคเรื้อรัง ก็จะเข้าสู่ระบบ HI และ CI ทั้งนี้ หากมีอาการ หรือมีความเสี่ยงทางการแพทย์จึงจะตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากร
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการของผู้ที่ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่ 48% ไม่มีอาการ ส่วนบางรายพบมีอาการไอมากที่สุด รองลงมา คือเจ็บคอ และมีไข้ ดังนั้น ระบบการคัดกรองในการเข้าสถานที่ พื้นที่ต่างๆ จะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยต้องมีการสอบถามอาการเบื้องต้น ไม่เพียงแต่ตรวจวัดอุณหภูมิเท่านั้น
สำหรับแนวทางการรักษาโรค ผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อ และตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบว่าผลเป็นบวก ให้ติดต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เบอร์ 1330 หรือไลน์ @สปสช หรือเว็บไซต์ของสปสช. นอกจากนี้สามารถติดต่อคอลเซนเตอร์ของจังหวัด หรืออำเภอได้ โดยจะมีหน่วยประเมินอาการ หากพบว่ามีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ จะเข้าสู่ระบบการรักษา HI หรือ CI โดยใช้เวลารักษาประมาณ 10 วัน แต่หากมีอาการปานกลาง หรือมีปัจจัยเสี่ยง จะเข้ารักษาที่ Hospitel โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก
ในส่วนของผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบ หากมีอาการให้ไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR แต่หากมีความเสี่ยงต่ำให้ปฎิบัติตามมาตรการ DMHTT แต่ถ้ามีความเสี่ยงสูงให้ทำ Self Quarantine และตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วัน หรือเมื่อมีอาการ
สำหรับเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล คือ 1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง 2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาที (ผู้ใหญ่) 3. Oxygen saturation น้อยกว่า 94%
4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง ในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ที่มีความเสี่ยง หรือผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องติดตามอาการอย่าใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ และ 5. ในเด็กที่มีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง และมีอาการถ่ายเหลว อย่างไรก็ดี เด็กไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลทุกราย ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
“ขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยในระบบ HI และ CI ทั้งการติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง และการเตรียมของจำเป็นในการรักษา นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยเด็กอายุ 5-11 ปี ทั้งการเตรียมยาน้ำ และเตียง รวมถึงมีการจัดเตรียมเตียงสำหรับแรงงานต่างด้าวด้วย อย่างไรก็ดี จะมีการประชุมเรื่องแนวทางเวชปฎิบัติการดูแลรักษาโควิด-19 โดยคาดว่าอาทิตย์หน้าน่าจะมีแนวทางเวชปฎิบัติใหม่ออกมา”
นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ส่วนอัตราการครองเตียง ณ ปัจจุบัน ทั่วประเทศอยู่ที่ 178,139 เตียง โดยอัตราการครองเตียงสีเหลือง และแดงลดลง ในขณะที่เตียงสีเขียวมีอัตราการครองเตียงที่มากขึ้น ทั้งนี้ การขยายโรงพยาบาลสนามช่วงนี้ยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากจะให้ใช้ “HI & CI First” เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยอาการหนักได้อย่างทั่วถึง
“ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตนเอง และคนรอบข้างเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิต้านทานคงอยู่ หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ เจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง ตรวจ ATK ตามความจำเป็น และใช้ระบบ HI & CI first”
นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ระบบรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความพร้อมในการให้บริการเต็มที่ โดยมีการเตรียมคู่สายจำนวน 3,000 คู่สาย และผู้รับโทรศัพท์ 300 คน ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังได้มีการทดสอบระบบกรณีที่ผู้ติดต่อเข้ามาจำนวน 20,000 คนว่าระบบจะสามารถรองรับได้ไหม ซึ่งจะมีการรายงานผลการทดสอบนี้ต่อไป
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการติดตามการเคลื่อนที่ของประชาชนโดยการติดตามจากโทรศัพท์มือถือ พบว่า ประชาชนมีการเคลื่อนที่ในเดือนม.ค. 65 สูงสุดในรอบ 2 ปี จึงส่งผลให้ขณะนี้มีการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ดี ช่วงหลังปีใหม่มีการเดินทางในกทม. ค่อนข้างน้อย ประกอบกับมีมาตรการทำงานที่บ้าน ทำให้มีการแพร่ระบาดไม่มากนัก ในขณะที่จังหวัดชลบุรีมีการเดินทางค่อนข้างมาก จึงมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก
สำหรับมาตรการสาธารณสุขในการรับมือกับโอมิครอน จากกรณีตัวอย่างคลัสเตอร์โอมิครอนในจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า สัปดาห์นี้ผู้ติดเชื้อลดลง สามารถควบคุมการระบาดได้ ด้วยความร่วมมือของประชาชน มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง งดร่วมกิจกรรมมีคนจำนวนมาก
ทั้งนี้ มีลักษณะทางระบาดวิทยา คือ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้ออยู่ในวัยทำงาน มีประวัติรับวัคซีนครบ และผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ไม่พบผู้เสียชีวิต
จากตัวอย่างคลัสเตอร์ดังกล่าว จึงขอความร่วมมือประชาชนและผู้ประกอบการ ในการปฎิบัติตามมาตรการเพื่อลดการติดเชื้อ ดังนี้
1. มาตรการด้านการฉีดวัคซีน สถานพยาบาลทั่วประเทศเปิดจุดบริการฉีดวัคซีนทุกเข็ม โดยเฉพาะเข็มบูสเตอร์ ให้ผู้ใช้บริการกลุ่ม 608 โดยสถานพยาบาลสามารถเบิกวัคซีนได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง (กรมควบคุมโรค สนับสนุนจัดส่งวัคซีนให้จังหวัดตามสูตรซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม+ไฟเซอร์
2. มาตรการ Covid Free Setting งดไปสถานที่เสี่ยง ดังต่อไปนี้ สถานที่ระบายอากาศไม่ดี สถานที่แออัด รวมถึงสถานที่ที่มีโอกาสไม่สวมหน้ากากเป็นเวลานาน เช่น ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ ร้านกาแฟ และร้านอาหารกึ่งผับ เป็นต้น
นอกจากนี้ เร่งการฉีดวัคซีน และสื่อสารประชาชน เรื่อง Work From Home ตรวจ ATK เป็นประจำทุกสัปดาห์ ตามมาตรการ ATK-First และ HI-First และหากพบผู้ติดเชื้อให้ทำ Bubble & Seal พร้อมดำเนินการแยกผู้ติดเชื้อ โดยสถานประกอบการไม่ต้องหยุดการทำงาน เนื่องจากจะทำให้เกิดการเดินทางที่ทำให้เชื้อกระจายมากขึ้น และงดร่วมวงดื่มสุราและแอลกอฮอล์หลังเลิกงาน งดไปสถานบันเทิง งดร่วมกิจกรรมรื่นเริง
“หากประชาชนให้ความร่วมมือในทุกๆ ด้านได้ดี เชื่อว่าภายใน 1-2 อาทิตย์ จะทำให้สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศกลับมาดีขึ้น”
นพ.โอภาส กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 65)
Tags: ATK, COVID-19, lifestyle, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, สปสช., เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โควิด-19, โอมิครอน