โฆษกรัฐบาลเผยรัฐไม่เคยปิดบังโรคระบาดในหมู สั่งกรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบฟาร์มหมู-สกัดโรค

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาครัฐไม่เคยปกปิดข้อมูลโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ในประเทศ ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ หลังจากมีข่าวโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบและแก้ปัญหา นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังสนับสนุนงบประมาณสำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกันและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งเสริมการปรับปรุงยกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GAP หรือให้ได้มาตรฐาน GFM เพื่อการป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาเจ้าของฟาร์ม ด้วยการจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังชี้แจ้งสำหรับกระแสข่าวที่ว่าได้พบการระบาดของโรคอหิวาตห์แอฟริกาในสุกร(ASF)ในประเทศไทยแล้วว่า กรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ตามขั้นตอน หลักวิชาการและมาตรฐานสากล หากพบการแพร่ระบาด จะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศเพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถปกปิดข้อมูล และพร้อมรายงานให้สาธารณะชนทราบตามความเป็นจริง

กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการตามบัญชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น มีเจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกัน จะเข้าไปสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกร นำไปตรวจหาโรคโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พร้อมทั้งประเมินพื้นที่เสี่ยงและความเสี่ยงระดับฟาร์ม หากพบมีความเสี่ยงสูงและไม่สามารถปรับปรุงระบบการป้องกันโรคได้จะทำลายสุกรเพื่อลดความเสี่ยงและจ่ายเงินชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรหากพบสัตว์ป่วย ต้องแจ้งกรมปศุสัตว์ตามกฏหมาย เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ลดความเสียหายแก่เกษตรกร ที่ผ่านมาการเกิดโรคระบาดในหมูไทยเป็นโรค PPRS เป็นกลุ่มอาการของโรค ในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร แต่ไม่พบว่ามีการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู ( AFS)

สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2464 ที่ทวีปแอฟริกา และลุกลามไปทั่วโลก ปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรคได้ ซึ่งประเทศจีน ได้มีการทำลายสุกรไม่น้อยกว่า 500 ล้านตัว ในเวียดนาม สุกรเสียหายไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว และยังพบการระบาดในพม่า ลาวและกัมพูชาด้วย

นายธนกร ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังให้มีการแก้ปัญหาโรคระบาดในหมูอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย พัฒนาวัคซีน ขณะนี้ กรมปศุสัตว์ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีน ผลิตโปรโตไทป์ได้ผล 60-70%กำลังเข้าสู่การทดสอบฉีดในหมูในห้องทดลอง หากประสบความสำเร็จ จะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีวัคซีนมาใช้ควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกา จะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมหมูของไทยทั้งระบบที่มูลค่าการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสุกรมากกว่า 20,000 ล้านบาท ต่อปี รวมทั้งคนไทยผู้บริโภคทุกคนด้วย

สำหรับกรณีราคาหมูแพง รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ เปิด 667 จุดบริการทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 116 หน่วยบริการ รถโมบายตระเวนตามพื้นที่ 50 คัน ตั้งจุดบริการ 50 แห่ง และสมาคมฯ 16 แห่ง ต่างจังหวัด 551 แห่ง เพื่อจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก เพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อเนื้อหมู ช่วยลดภาระค่าครองชีพ เป็นมาตรการเสริม ถึงสิ้นเดือนนี้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top