เอกชนชวนคนไทยช่วยเกษตรกรอีกทาง บริโภคไก่-โปรตีนชนิดอื่นทดแทนช่วงหมูแพง

นายสมบูรณ์ วัชรพงษ์พันธ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาหมูแพงในขณะนี้ที่ภาครัฐมีมาตรการเร่งด่วนออกมาแก้ปัญหาแล้วนั้น ประชาชนในฐานะผู้บริโภคสามารถร่วมแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการหันไปบริโภคเนื้อไก่หรือโปรตีนชนิดอื่นทดแทน เพื่อลดปริมาณความต้องการเนื้อหมู ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อที่มีอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศด้วย

“คำแนะนำที่ให้ผู้บริโภคเลือกโปรตีนหลากหลายทดแทนกันนั้น เป็นคำแนะนำที่ถูกต้องและให้ผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วหลายครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อปริมาณหมูน้อยลง การช่วยลดความต้องการหมูลงแม้สักเล็กน้อยก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้ ขณะที่เนื้อไก่เป็นโปรตีนเนื้อขาวที่มีประโยชน์ไม่แพ้เนื้อหมู ทั้งยังย่อยง่าย หาซื้อได้โดยทั่วไป การหันไปเพิ่มการบริโภคเนื้อไก่ยังเท่ากับการได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อทั่วประเทศที่มีจำนวนหลายหมื่นรายด้วย” นายสมบูรณ์ กล่าว

สำหรับมาตรการที่รัฐประกาศช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยการยกเว้นภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียมต่างๆ นั้น ตนเองเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยต้องแบกรับต้นทุนอาหารที่สูงมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลมีมาตรการผลักดันให้พืชเกษตรมีราคาสูงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ในประเทศ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่ได้รับการดูแลใดๆ ต้องแบกรับต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่สูงขึ้นนี้ด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐทบทวนมาตรการด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ครบถ้วนทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ให้เป็นวัตถุดิบสีเขียว เพื่อให้ไก่เนื้อไทยเป็นไก่ไร้คาร์บอนที่ไม่ได้มาจากการรุกป่า ตอบโจทย์ประเทศผู้นำเข้าไก่เนื้อ อย่างสหภาพยุโรปด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อต้องเผชิญปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองแพงขึ้น 30% จากกิโลกรัมละ 13 บาทเป็นกิโลกรัมละ 18 บาท ส่วนราคาข้าวโพดปี 2564 ขยับพุ่งสูงสุดที่ 11.50 บาท/กก. อาหารเสริม-วิตามิน-เกลือแร่ที่นำเข้าจากต่างประเทศล้วนปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20-30%

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top