นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2565 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ในปี 2565 อีอีซี เร่งขับเคลื่อนแผนลงทุนระยะ 2 (ปี 65-69) ตั้งเป้าเกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท จากการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน การดึงดูดการลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ต่อยอดจากฐานปกติ และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อให้เกิดการลงทุนนวัตกรรมใหม่เคียงคู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตขึ้น (GDP) 5% ต่อปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อนุมัติแผนโครงสร้างพื้นฐานระยะที่ 2 (ปี 2565-2569) งบประมาณ 3.4 แสนล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นเงินภาคเอกชน ครึ่งหนึ่งเป็นเงินภาคของรัฐ โดยเน้นดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ
1.ส่งเสริมการใช้ระบบรางเข้าไปทำโครงสร้างการเชื่อมโยงกับการขนส่ง ซึ่งจะเข้าไปถึงนิคมอุตสาหกรรม
2.การขนส่ง จะเป็นระบบสาธารณะมากขึ้น ทั้งเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกับเมืองหลักๆ เน้นการแก้ปัญหาคอขวด แก้ปัญหาจราจร และกพอ.กำลังพัฒนาเครือข่ายคมนาคม เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ หรือนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งในส่วนของระบบรางจำเป็นต้อง ใช้ระบบเทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะ เข้าไปบริหารจัดการทั้งหมด
โดยได้วางแผนในระยะปานกลางจะเพิ่มระบบรางและทางน้ำ จาก 4% เป็น 15% เป็นอย่างน้อย เพิ่มระบบขนส่งสาธารณะจาก 25% เป็น 35%
นายคณิศ กล่าวว่า ในปี 2572 อีอีซี ตั้งเป้าหมายสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงจากฐานราก ให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนา รวมทั้งยกระดับคุณภาพชุมชนในมิติต่างๆ ต่อเนื่อง สร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างชุมชนที่มั่งคั่ง ให้กับคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเป็นองค์กรต้นแบบการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษทั่วประเทศในอนาคตต่อไป
ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
1. ในปี 61-64 ถือเป็นช่วงวางเสาเอก หรือ เริ่มต้นมี พ.ร.บ. อีอีซี ถึงแม้ใน 2 ปีหลังจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่อีอีซี ได้อนุมัติการลงทุนแล้วประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท (การลงทุนภาคเอกชน 80% และภาครัฐ 20%) เกิดจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 654,921 ล้านบาท ลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 924,734 ล้านบาท และบูรณาการเชิงพื้นที่ประมาณ 82,000 ล้านบาท ทั้งนี้หลังจากเกิด อีอีซี ทำให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมที่สำคัญๆ ได้แก่
– เกิดการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี เฉลี่ยสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2559 (ก่อนมี อีอีซี) ที่มีมูลค่าลงทุน 1.7 แสนล้านบาท (คิดจากมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ BOI)
– เกิดสัดส่วนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ต่อประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 52% จาก 36% ก่อนมี อีอีซี
-เกิดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2561 เพิ่มขึ้นถึง 59% (ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์สงครามการค้า Trade war และโควิด-19 ในช่วงปี 2562-ปัจจุบัน)
– เกิดการริเริ่ม พัฒนาทักษะบุคลากร สร้างคนตรงกับงาน (อีอีซี โมเดล) ให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้นถึง 14,467 คน พร้อมมีแผนขยายผลผูกพันเพิ่มเติมอีกกว่า 150,000 คน
– เกิดความร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐ เสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ชุมชนคนพื้นที่ เข้าถึงแหล่งเงินทุนฟื้นฟูกิจการคลายผลกระทบช่วงโควิด-19 โดยได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจประชาชนไปแล้ว 7,672 ราย คิดเป็นมูลค่า 1,052.7 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการขนาดรายเล็ก 1,359 ราย คิดเป็นมูลค่า 1,986.8 ล้านบาท
– เกิดการพัฒนาและยกระดับชีวิตชุมชนครบมิติ อาทิ เกิดแผนเกษตรสมัยใหม่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดี มั่นคง มีการใช้เทคโนโลยีผลิตสินค้าตรงความต้องการของตลาด ส่งเสริมการลงทุนศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี รักษาตรงจุด เข้าถึงได้ทุกคน แผนการพัฒนาท่องเที่ยว NEO Pattya สร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน เสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ชุมชน คนพื้นที่ เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดกิจการคลายผลกระทบช่วงโควิด-19 เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มีการรายงานความก้าวหน้าใน 4 โครงสร้างพื้นฐานเดินหน้าก่อสร้าง ใช้เงินไทย ใช้บริษัทไทย ใช้คนไทย ร่วมสร้างประเทศไทย โดยรัฐได้ผลตอบแทน 2 แสนล้านบาท และที่ประชุม กพอ.รับทราบความก้าวหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสำคัญของอีอีซี ที่ได้ผลักดันการลงทุนร่วมรัฐ-เอกชน (PPP) จนสำเร็จครบ และต่อจากไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ ทุกโครงการ (รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบัง) จะสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ตามแผนทั้งหมด ซึ่งถือเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ไม่ต้องพึ่งพิงเงินกู้ต่างประเทศเช่นในอดีต ทำให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณ ร่วมมือกับเอกชนไทย ใช้เงินไทย ใช้บริษัทไทย ใช้คนไทย ร่วมสร้างประเทศไทยที่แข็งแกร่งเป็นแกนหลักนำพันธมิตรต่างชาติมาร่วมลงทุน สร้างงาน สร้างเงินให้คนไทย มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 654,921 ล้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนสูงถึง 210,352 ล้านบาท
อีกทั้ง ที่ประชุม กพอ. รับทราบความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่ อีอีซี ยกระดับให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี และบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สกพอ. ได้ลงนามในสัญญาจ้าง และสัญญาเช่าที่บริการถอดรหัสพันธุกรรม กับกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี และจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้อง เป็นต้นแบบในพื้นที่ อีอีซี เพื่อให้คนไทยทุกคน ได้รับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รักษาได้ตรงอาการ และมีสุขภาพดี
ส่วนเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ถือว่ามีความก้าวหน้า มีการก่อสร้างสำนักงานใหญ่เสร็จแล้วและจะมีการเปิดใช้เดือนมิ.ย.65 ก่อนจะเปิดใช้ทางการในเดือนพ.ย.65 ซึ่งที่ประชุมกพอ. ขอให้อีอีซีให้การสนับสนุนการจัดประชุมเอเปค ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม นายคณิศ กล่าว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด สายพันธุ์โอมิครอนยังไม่ได้ส่งผลต่อการลงทุนในอีอีซี การลงทุน การค้า ตัวเลขส่งออกก็ดูดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 65)
Tags: EEC, คณิศ แสงสุพรรณ, อีอีซี