สบน.แจงหนี้สาธารณะคงค้างปัจจุบันยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงกรณีมีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กและออนไลน์ “รัฐบาล “บิ๊กตู่” กู้เงินสนั่นเมือง หนี้ท่วมการคลังประเทศสาหัส”ว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 มีจำนวน 9.62 ล้านบาท หรือคิดเป็น 59.58% ต่อ GDP ซึ่งระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาการคลังแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ (Debt affordability) โดยติดตามสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ Stable Outlook ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจค่อนข้างมากภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและมุมมองความน่าเชื่อถือ โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 Moody’s รายงานว่า ประเทศไทยมีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะแข็งแกร่ง และมีหนี้ระยะยาวช่วยสนับสนุนภาคการคลังให้เข้มแข็ง และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 Fitch Ratings รายงานว่าภาคการคลังของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง โดยความเสี่ยงภาคการคลังสาธารณะจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐบาลได้รับการบริหารจัดการ โดยกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะที่เข้มแข็ง ดังนั้นกระทรวงการคลังขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลยังมีความสามารถในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า การกู้เงินในช่วงวิกฤตทำให้ระดับหนี้สาธารณะ และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดีเมื่อปัญหาคลี่คลายและเงินกู้ดังกล่าวช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและธุรกิจเติบโต GDP จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับตัวลดลงเป็นลำดับต่ำกว่าในอดีตเมื่อเกิดวิกฤต ดังเช่นที่ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 59.98% ในปี 2543 และอยู่ที่ระดับ 42.36% ในปี 2552

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2557-2564 รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อวางรากฐานการพัฒนาสร้างรายได้และเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยในปี 2557-2564 เป็นช่วงเวลาที่รัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดถึง 178 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท โดยมีโครงการเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว อาทิ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าทั่วประเทศ โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและก่อสร้างปรับปรุงขยาย การประปาส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีโครงการเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในสาขาต่างๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและจะทยอยเปิดให้บริการแก่ประชาชนเพิ่มขึ้น

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ในภาวะปกติกระทรวงการคลังจะกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นการกู้เงินตามปกติเมื่อรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเป็นการกู้เงินเพื่อการลงทุนมากกว่า 65% ของหนี้สาธารณะคงค้าง

สำหรับในภาวะที่ไม่ปกติ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ของประเทศโดยเฉพาะภาคเอกชนหยุดชะงัก รัฐบาลเป็นเพียงภาคส่วนเดียวที่มีความสามารถในการใช้จ่ายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต ซึ่งในอดีตเคยมีการกู้เงินโดยการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หลายฉบับ อาทิ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินเป็นหลัก มิได้กระทบประชาชนทุกระดับ ทุกภาคส่วน แต่มีการกู้เงินรวมสูงถึง 1.28 ล้านล้านบาทจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 วงเงิน 500,000 ล้านบาท (FIDF1) และในปี พ.ศ.2545 วงเงิน 780,000 ล้านบาท (FIDF3)

ในช่วงวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ สืบเนื่องจากการเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัยเพราะธนาคารปล่อยสินเชื่อที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือด้อยคุณภาพ (Subprime) มากจนเกินไป ก่อให้เกิดวิกฤตขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย คือ ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยติดลบต่อเนื่องถึง 12 เดือน รัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจทุกสาขาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปี พ.ศ.2562 ได้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง (PANDEMIC) การดำเนินมาตรการควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาด ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงันอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย รัฐบาลหลายประเทศได้ดำเนินทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน โดยการกู้เงินจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ทั้งนี้การกู้เงินของรัฐบาลในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ และเยียวยาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ช่วยให้เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 หดตัวลดลงเหลือ 5.1% ซึ่งดีกว่าที่ IMF คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ 8%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top