การมาถึงของ Cryptocurrency ถูกนำมาใช้ในหลากหลายธุรกิจและปัจจุบันโลกเรามีการนำ Cryptocurrency มาเป็นส่วนหนึ่งในโลกการเมืองเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องชี้ชัดว่า Cryptocurrency ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ล่าสุดประเทศเกาหลีใต้มีผู้เข้าแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี นาย Lee Jae-myung ประกาศรับ Cryptocurrency จากผู้ที่ต้องการสนับสนุนแคมเปญการเลือกตั้ง ซึ่งคนที่มาบริจาคก็จะได้รับ NFT ตอบแทนเหมือนเป็นของชำร่วยอีกด้วย โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีใต้จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 มี.ค.นี้
ขณะที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง SUMSUNG ยังได้ประกาศ เปิดตัว Smart TV รุ่นใหม่ ที่มีการเพิ่ม Feature ทำให้สามารถซื้อ ขาย รับ ส่ง NFT ผ่าน Smart TV ได้อีกด้วย
ด้านประเทศจีนได้เปิดตัว Application กระเป๋าเงินหยวนดิจิทัลที่ชื่อว่า “e-CNY” ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดได้ทั้ง Android และ IOS แล้ว โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยสกุลเงินดิจิทัลแห่งธนาคารกลางจีน (PBOC) โดยในแอปพลิเคชันก็ได้มีการประกาศชัดเจนว่าเป็น Beta Version (สำหรับทดลองใช้) และให้บริการเฉพาะผู้ใช้ที่ได้รับการคัดเลือก ผ่านสถาบันที่รองรับที่ให้บริการ e-CNY
เมื่อช่วงปี 2564 สหรัฐฯได้มีการเปิดกองทุน Bitcoin Future ETF กองแรกของโลก ภายใต้ชื่อย่อว่า “BITO” ซึ่งบริหารจัดการโดยบริษัท Proshare ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย
หลังจากนั้นก็มีบริษัทจัดการการลงทุนมากมายต่อคิวขอใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. สหรัฐฯ เพื่อจะเปิดกองทุน “Bitcoin SPOT ETF” ไม่ว่าจะเป็น VanEck, WisdomTree หรือแม้แต่ New York Digital Investment Group (NYDIG) แต่ทาง ก.ล.ต. สหรัฐฯก็ได้ปฏิเสธใบอนุญาตของ VanEck และ WisdomTree ไปแล้ว ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่ไม่ตรงกับข้อกำหนดของ ก.ล.ต.
แต่ก็มีอีก 1 รายก็คือ “NYDIG” หรือว่า “New York Digital Investment Group” ที่กำลังรอคำตัดสินจาก ก.ล.ต. สหรัฐฯ ซึ่งกำหนดการเดิมของ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ที่จะแจ้งผลวันที่ 15 ม.ค.นี้ แต่ล่าสุดประกาศเลื่อนขอเวลาพิจารณาเพิ่มอีก 60 วัน โดยจะประกาศผลในวันที่ 30 มี.ค.นี้
ปัจจุบันประเทศไทยมี “License” หรือใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากมาย ซึ่งทางสำนักงาน ก.ล.ต. ก็มีการประกาศและอนุมัติใบอนุญาตต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดก็มีผู้ได้ใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Management) รายแรกเป็นที่เรียบร้อย โดยบริษัทที่ได้ก็คือ “เมอร์เคิล แคปปิตอล” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Cryptomind นั่นเอง
กองทุนภายใต้ “Merkle Capital” ก็จะบริหารโดยนายกานต์นิธิ ทองธนากุล เจ้าของเพจ “Kim DeFi Daddy” โดยแบ่งเป็นกลยุทธ์ “Bitcoin Alpha” ที่จะเน้นลงทุนในบิทคอยน์ เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว และ “Large Cap” ที่คัดสรร Cryptocurrency อันดับต้น ๆ ของตลาด พร้อมการ Rebalance ปรับสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่วานนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.เผยแพร่บทความเรื่อง Non-Fungible Token (NFT) และการกำกับดูแลของ ก.ล.ต.โดยขยายความเกี่ยวกับ Cryptocurrency ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ โดยกำหนดขอบเขตของสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลไว้ 3 ประเภท ได้แก่
1. Cryptocurrency เหรียญดิจิทัลทั่วไป ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน หรือแลกระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน
2. Investment Token เหรียญดิจิทัลที่ใช้แสดงสิทธิในการลงทุนในโครงการต่าง ๆ
3. Utility Token แบ่งออกเป็น Utility พร้อมใช้และไม่พร้อมใช้ โดย Utility Token พร้อมใช้ คือผู้ถือเหรียญสามารถใช้โทเคนได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก และ Utility Token ไม่พร้อมใช้ ผู้ถือยังไม่สามารถใช้สิทธิได้ทันที ต้องรอใช้สิทธิในอนาคต
สำหรับ Investment Token และ Utility Token ไม่พร้อมใช้จะต้องออกโดย ICO Portal และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น
ขณะที่ส่วนของ NFT หรือ Non-Fungible Token ต้องพิจารณาเป็นเหรียญ ๆ ไปว่า NFT นั้นมีการผู้ผูกสิทธิเข้ากับโทเคนหรือไม่ เพราะถ้าเกิดมีผู้ติดสิทธิเข้าไปด้วยก็จะเข้าข่ายของ Utility Token ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแล NFT marketplace เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลของสากล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 65)
Tags: bitcoin, Cryptocurrency, CryptoShot, NFT, Non-Fungible Token, คริปโทเคอร์เรนซี, บิทคอยน์