สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธ.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 2.17% แต่ลดลงจากเดือนพ.ย. -0.38% ส่งผลให้ทั้งปี 64 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 1.23%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนธ.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.29% และเพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. 0.05% ส่งผลให้ทั้งปี 64 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.23%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 65 ไว้ที่ 0.7 – 2.4% โดยมีค่ากลางที่ 1.5% ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยแถลงไว้ในช่วงต้นเดือนธ.ค.64 เพราะจนถึงขณะนี้ แม้ในประเทศจะมีสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อปี 65 ต่างไปจากที่เคยประเมินไว้
นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธ.ค.64 ที่สูงขึ้น 2.17% เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ราคาผักสดยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนเนื้อสุกร และไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรปรับเพิ่มตามค่าบริหารจัดการโรคระบาดในสุกร นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยลดปริมาณการเลี้ยงสุกร
รวมทั้งน้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูป และข้าวราดแกง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษายังคงปรับลดลง ส่วนสินค้าอื่น ๆ อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต
สำหรับภาพรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยทั้งปี 64 ที่สูงขึ้น 1.23% ถือว่าใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 0.8 – 1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 0.23% ซึ่งขยายตัวเท่ากับปีก่อน ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในปี 64 ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง จากอุปทานที่ไม่สมดุลกับอุปสงค์ของโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันสูงขึ้น ประกอบกับราคาผักสดเพิ่มสูงขึ้น จากปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และผลผลิตที่ต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ
สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผลไม้สด จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลง รวมถึงผลผลิตมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ค่าสาธารณูปโภค ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาลดลง ส่วนหมวดอื่น ๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
“อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวชี้ว่า สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศตลอดทั้งปี 2564 ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปทานและด้านอุปสงค์”
นายรณรงค์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ปี 65 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ จะได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การผลิต และอุปสงค์ด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน สำหรับอุปทานที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาทที่อ่อนค่าลง และการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลต่อภาคการผลิตและสินค้าในหมวดอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด
ผู้อำนวยการ สนค. ย้ำว่า สนค.จะติดตามสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอย่างใกล้ชิด เพราะสถานการณ์ในปี 65 ไม่เหมือนปีก่อน โดยสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก เช่น ในบางประเทศที่ปีก่อนไม่ได้ล็อกดาวน์ แต่พอเริ่มต้นเดือนม.ค.ก็ประกาศล็อกดาวน์กันไปหลายประเทศจากปัญหาการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ดังนั้น จึงต้องประเมินสถานการณ์ในประเทศด้วยว่าการระบาดในไทยจะไปในทิศทางใด แต่เชื่อว่าคงจะไม่มีการประกาศล็อกดาวน์เหมือนกับในปี 63
“ด้านสาธารณสุข อาจจะมองว่าโอมิครอนไม่น่ากังวลมากนัก เพราะอัตราการตายต่ำ แต่ถ้ามองในด้านของเศรษฐกิจ อาจจะคนละมุมกัน เพราะหากอัตราการติดเชื้อสูง ก็น่ากังวลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องดูสถานการณ์ต่อไป เราคงต้องประเมินกันทุกเดือน”
นายรณรงค์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ม.ค. 65)
Tags: CPI, กระทรวงพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป, สนค., สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, อัตราเงินเฟ้อ