นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน พ.ค.64 โดยการส่งออกมีมูลค่า 23,057 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกขยายตัว 45.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการเติบโตที่ฟื้นตัวจากภาคเศรษฐกิจจริง
ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 22,261 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 63.54% ส่งผลให้เดือนพ.ค. เกินดุลการค้า 795 ล้านดอลลาร์
สำหรับภาพรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.78% การนำเข้า มีมูลค่า 107,141 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.52% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 1,494 ล้านดอลลาร์
“การส่งออกในเดือน พ.ค.ถือว่าเติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี จากเหตุผลสำคัญ 2 ข้อ คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นตลาดสำคัญทั้ง สหรัฐ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงแผนการส่งออกที่นำไปสู่ภาคปฏิบัติจริง ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของ กรอ.พาณิชย์ จึงทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของภาคส่งออกได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที”
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ระบุ
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ประกอบด้วย
- 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ผักและผลไม้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร
- 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ
- 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง กลายเป็นสินค้าที่มีความสำคัญในช่วงที่มีการระบาด
- 4) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
- 5) สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าได้เป็นอย่างดี
“สินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวสูงถึง 170.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยเฉพาะตลาดเวียดนามที่เติบโตสูงถึง 922% สืบเนื่องจากการผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเข้าของเวียดนาม”
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์กล่าว
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดต่างๆ นั้น พบว่า ตลาดหลัก ขยายตัว 39.9% เช่น สหรัฐฯ ขยายตัว 44.9% ญี่ปุ่น ขยายตัว 27.4% สหภาพยุโรป ขยายตัว 54.9% ตลาดจีน ขยายตัว 25.5% ตลาดอาเซียน ขยายตัว 51% ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 65.4% ได้แก่ เอเชียใต้ ขยายตัว 184.1% ออสเตรเลีย ขยายตัว 35.1% ตะวันออกกลาง ขยายตัว 39.9% แอฟริกา ขยายตัว 60.2% ลาตินอเมริกา ขยายตัว 129.9% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 58.2%
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจาก
- การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 5 ในเกือบทุกหมวดสินค้า
- ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน
- การกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในแต่ละประเทศ ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการบริโภค และส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย
โดยในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 4% ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 10.78% แล้วก็ตาม ซึ่งคาดว่าแนวโน้มการส่งออกหลังจากนี้ไปจะยังสามารถทำหน้าที่เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้ ยกเว้นแต่จะมีวิกฤติการณ์อันคาดไม่ถึงเข้ามากระทบต่อไทยและทั่วโลก
ส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 17% นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ปรับเป้าหมายไปจากเดิมที่ตั้งไว้ 4% เพื่อป้องกันการสับสน แต่จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จะพยายามทำให้ได้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องมีเพดาน ซึ่งจะเป็นการทำอย่างต่อเนื่องในเชิงรุก ส่วนโอกาสที่ทั้งปีนี้การส่งออกจะเติบโตในระดับ 2 หลักหรือไม่นั้น กระทรวงพาณิชย์จะพยายามให้ดีที่สุด แตทั้งนี้ก็จะเห็นได้แล้วว่าในช่วง 5 เดือนแรก การส่งออกก็เติบโตอยู่ในระดับ 2 หลักแล้ว
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์มีแผนงานที่จะเดินหน้าต่อไป ประกอบด้วย
- เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา
- รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่อง โดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่านที่ปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่าน ให้เปิดได้เพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายระยะสั้นจะเร่งเปิดเพิ่มให้ได้อย่างน้อยอีก 11 ด่าน ซึ่ง วันที่ 9-11 ก.ค.นี้ จะเดินทางไปดูด่านบริเวณชายแดนลาว ซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะต่อไปเวียดนามและจีน เช่น ด่านปากแซง นาตาล ท่าเทียบเรือมุกดาหาร ท่าเทียบเรือนครพนม และท่าเทียบเรือหนองคาย เป็นต้น
- เร่งส่งเสริมการส่งออก และการเจรจาการค้า รวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ รวมทั้งเร่งดำเนินการผสมผสานการทำสัญญาสินค้าส่งออกในรูปแบบไฮบริด
- เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานา ของอินเดีย เมืองคยองกี ของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงเดือนสิงหาคม
- เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทย เพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศ
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงกรณีการติดเชื้อโควิดของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะโรงงาน ไม่ใช่ภาพรวม ซึ่งในภาพรวมแล้วสินค้าอาหารส่งออกของไทยยังได้รับความเชื่อมั่นจากตลาดโลก โดยประเทศผู้นำเข้ายังมั่นใจในรสชาติ คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าอาหารไทย
“ภาพรวมไม่ได้มีปัญหา อาหารไทยยังได้รับความเชื่อมั่นในตลาดโลก ทั้งรสชาติ คุณภาพ และความปลอดภัยจากโควิด แต่หากโรงงานใดมีปัญหาจากผู้นำเข้า ก็ให้มาขอเอกสารใบรับรองได้ ซึ่งออกโดย 3 กระทรวง คือ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย”
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 64)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การค้าระหว่างประเทศ, จีน, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ญี่ปุ่น, ทองคำ, น้ำมัน, นำเข้า, พาณิชย์, ภาคเอกชน, ยุโรป, ส่งออก, สหรัฐ, อาวุธยุทธปัจจัย, เศรษฐกิจโลก