ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เสด็จลง ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ด้วยทรงห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และทรงให้ความสำคัญต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่มีความจำเป็น เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ทรงมีพระดำริให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ติดต่อหาวัคซีนเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลอีกทางหนึ่ง โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนตัวเลือกจากบริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ที่ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) และเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เพื่อกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสให้ได้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในช่วงที่ประเทศยังมีวัคซีนไม่เพียงพอ โดยวัคซีนตัวเลือก “ซิโนฟาร์ม” ล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดส ได้จัดส่งมาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564 และผ่านการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันอังคารที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ จัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มเพื่อพระราชทานแก่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวนแห่งละ 6,400 โดส รวมทั้งหมด 25,600 โดส ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564
โอกาสนี้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้ารับพระราชทานวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 6,400 โดส เพื่อนำไปจัดสรรกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อย และชุมชนในพื้นที่เสี่ยงเป็นกลุ่มแรก โดยจะเริ่มให้บริการฉีดตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, Sinopharm, WHO, กทม., กรมราชทัณฑ์, กระทรวงสาธารณสุข, กลุ่มเปราะบาง, ซิโนฟาร์ม, ผู้ด้อยโอกาส, ผู้พิการ, ผู้สูงอายุ, มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, วัคซีนต้านโควิด-19, องค์การอนามัยโลก, อัศวิน ขวัญเมือง, โควิด-19, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์