นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อหารือนโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอีกับภาคเอกชน ว่า สภาหอการค้าฯ สนับสนุนการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ที่จะเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนต่างชาติว่าประเทศไทยมีความพร้อมแล้ว และมีความจำเป็นต้องนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย
ขณะนี้เหมือนกับเรายังกินบุญเก่า โดยนำเงินของตัวเองมาเยียวยา หามาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอ หากยังไม่มีธุรกิจใหม่ เมื่ออัดฉีดเงินเข้าไปยัง ผู้ประกอบการ หรือ เอสเอ็มอี ก็ยังต้องพึ่งเงินสนับสนุนเยียวยาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่พอ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
สำหรับเรื่องการท่องเที่ยวจำเป็นจะต้องเปิดเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามา และทำให้นักธุรกิจต่างชาติสามารถเดินทางมาในไทยได้ อีกทั้งยังเป็นฤดูกาลที่จะต้องสั่งสินค้า ลูกค้าจากประเทศต่างๆ จะสามารถเดินทางเข้ามาไทย และจะทำให้คนไทยสามารถเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหาออเดอร์จากต่างประเทศได้
นายสนั่น กล่าวว่าในช่วง 120 วันนี้ต้องรู้ว่าต้องทำสิ่งไหนบ้าง เช่น นายกรัฐมนตรีจะต้องหาวัคซีนมาให้เพียงพอในการบริการฉีดประชาชนคนไทยให้ถึง 50 ล้านคน ซึ่งตรงนี้จะทำให้สบายใจได้ ขณะเดียวกันทางด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ จะต้องหามาตรการป้องกันไม่ให้โรคระบาดเกิดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ชาว กทม.ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้โรคโควิดขยายวง ซึ่งเรื่องนี้จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนายกฯคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องทำงานแบบบูรณาการ
ขณะเดียวกัน ทางหอการค้าไทยก็ได้พูดคุยกับหอการค้าทุกจังหวัดว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อม ทั้งโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ ต้องปรับปรุงแซ่อมแซม เตรียมพนักงานให้เพียงพอ อีกทางหนึ่งหอการค้าจะเป็นตัวกลางเจรจากับสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ ในการพิจารณาปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ ที่อยู่ในภาวะลำบาก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นกลับมาได้
ส่วนกรณีที่แพทย์เสนอให้ล็อกดาวน์ประเทศ เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดยังหนักนั้น นายสนั่น กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามตัวเองก่อนว่าทำไมต้องเปิดประเทศ เพราะเชื้อโควิดยังอยู่กับเราต่อไป ฉะนั้นก็จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้เปิดประเทศได้ หากกลัวอย่างเดียว แต่ประเทศอื่นเปิดประเทศไปแล้ว จะทำให้ไทยเสียโอกาส ประเทศใดที่มีวัคซีนเข้าถึงประชาชนได้ เศรษฐกิจประเทศนั้นจะกลับมาอย่างรวดเร็ว ประชาชนจะมีความปลอดภัย และการที่คนต่างประเทศจะเดินทางมาประเทศไทย ก็มีมาตรการควบคุมอยู่แล้ว เช่นเดียวกับประชาชนคนไทยก็ต้องมีความปลอดภัยด้วย
ขณะที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยอยากให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาเอ็นพีแอล นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาหนี้เอ็นพีแอล และ เครดิตบูโร โดยการผ่อนกฎเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังสามารถที่จะหารือกันได้ โดยไม่ต้องแก้กฎหมาย ถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นข้อจำกัดของสถาบันการเงินที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับลูกหนี้หรือผู้ประกอบการ เพราะติดเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทย และเชื่อว่ารัฐบาลจะสนับสนุน ซึ่งทางหอการค้าไทยเตรียมจะหารือร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ซึ่งมีแนวทางที่สอดคล้องกัน ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการรายใหญ่จะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ เพราะตอนนี้เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์เองมีความเข้มแข็งพอที่จะพิจารณาปล่อยเงินกู้เอง
นายสนั่น ยังสนับสนุนให้นำเงิน พ.ร.ก.กู้เงิน 5แสนล้านบาทออกมาใช้ โดยเสนอให้ใช้งบดังกล่าวแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ขณะนี้ภายใน 120 วันที่จะเปิดประเทศจะต้องอัดเงินเยียวเข้าไปอย่างเต็มที่ และเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสริมเพื่อเข้ามาต่อยอดหลังจากเปิดประเทศ 120 วันและผู้ประกอบการต่างๆแข็งแรงขึ้นก็จะได้รับโอกาสนี้
ส่วนมาตรการคนละครึ่งที่ทางหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลเพิ่มวงเงิน จาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาทนั้น นายสนั่น กล่าวว่าต้องรอดู เพราะขณะนี้โครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ ดูเหมือนจะเกิดความยุ่งยาก ดังนั้นจึงให้ลองใช้ไปก่อน แต่ส่วนตัวเห็นว่าโครงการช้อปดีมีคืน เป็นโครงการที่สะดวกและดีกว่า จึงต้องค่อยๆ พิจารณาดูกันไปอีกที
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ได้เสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพักต้นพักดอก เรื่องแนวทางตั้งกองทุนพยุงกิจการที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินของภาครัฐและพาณิชย์ กองทุนฟื้นNPL
โดยทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้เสนอปรับ 4 เรื่อง
- การใช้นิยามของเอสเอ็มอี ขอให้ใช้นิยามตามสสว. เพื่อเป็นมาตรฐานในการหารือกับธนาคารต่างๆ รวมถึงการสื่อสารกับผู้ประกอบ ภาครัฐจะได้ไปในทิศทางเดียวกัน
- อยากให้แบ่งวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ว่า จะช่วยผู้ประกอบในแต่ละระดับวงเงินเท่าไหร่ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รายเล็กและรายย่อย จะได้มีความชัดเจนในการใช้วงเงิน
- การตั้งเป้าจำนวนผู้ประกอบการที่จะเข้าถึงในแต่ละวงเงิน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนเป็นจำนวนสูงมาก เพื่อให้แต่ละธนาคารได้มีเป้าหมายในการไปปล่อยสินเชื่อในแต่ละวงเงินมีอยู่เท่าไหร่
- ทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยอยากให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในภงด.50 ที่เป็นนิติบุคคล และผู้ประกอบการตามภงด.90 ที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งอยากให้มีการช่วยเหลือซอฟต์โลนให้กับผู้ประกอบเหล่านี้เป็นลำดับแรกๆ
สำหรับมาตรการ พักต้นพักดอก อยากให้เข้ามาช่วยผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนได้ อย่างน้อยผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่ได้ไปก่อหนี้ใหม่ แต่หนี้สินเดิมควรได้รับการดูแลพักต้นพักดอก โดยไม่คิดดอกเบี้ย เป็นเวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาฟื้นตัว ทั้งนี้ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย พร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลในการผลักดันให้สามารถเปิดประเทศภายใน 120 วัน
นอกจากนี้ นายแสงชัย กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแก้กฏระเบียบกองทุนประกันสังคม 3 หมื่นล้านบาท ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบที่อยู่ในระบบ สามารถเข้าถึงกองทุนนี้ได้ในการช่วยเสริมสภาพคล่องและรักษาการจ้างงาน
ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอแนะของทั้ง 3 สถาบัน โดยไม่ได้ปรับแก้ โดยเรื่องหลักที่หารือเรื่องสภาพคล่องทางธุรกิจ หรือ Cash Flow การแก้ปัญหาหนี้ NPL ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยขอให้ปรับหลักเกณฑ์หนี้ NPL ด้วยการให้ธนาคารลดการจัดการความเสี่ยง หรือ การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ลงมาได้หรือไม่ ถ้ายังใช้กลไกเดิมก็ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการกู้เงินได้ ดังนั้นทางธนาคารต้องรับไปพิจารณา เนื่องจากสถานการณ์อยู่ในช่วงไม่ปกติ
ส่วนจะดำเนินการได้เร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับธนาคารโดยเฉพาะธนาคารของรัฐ น่าจะดำเนินการได้ดีที่สุด และส่วนตัวเชื่อว่า กรอบ 120 วันที่เปิดประเทศ จะต้องรีบเข้ามาช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเมื่อเปิดประเทศจะทำให้มีสภาพคล่องมากขึ้น
ทั้งนี้การหารือเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งการประชุมวันนี้เป็นการหารือชุดเล็กเพื่อรับข้อเสนอโดยตรง แต่ยังไม่ได้กำหนดไทม์ไลน์ ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามในลำดับต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 64)
Tags: ช่วยเหลือเอสเอ็มอี, ซอฟท์โลน, สนั่น อังอุบลกุล, หอการค้าไทย, เปิดประเทศ, แสงชัย ธีรกุลวาณิช