นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรณีนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาล่าช้าไม่เกี่ยวข้องกับทางองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากตามหลักการของวัคซีนทางเลือกต้องให้ภาคเอกชนแจ้งจำนวนวัคซีนที่แน่นอนเข้ามาก่อน โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นตัวกลางหรือสะพานไปเจรจาให้ แต่ไม่ใช่การซื้อมาสต็อกไว้แล้วนำมาขายต่อ และทางโมเดอร์นาก็แจ้งว่าสามารถส่งวัคซีนได้ในไตรมาส 4 ส่วนรายละเอียดองค์การฯ จะได้ให้รายละเอียดต่อไป
ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ รัฐบาลได้สั่งซื้อจำนวน 20 ล้านโดส และได้ลงนามในเทอมชีทร่วมกันเป็นที่เรียบร้อย แต่ล่าสุดบริษัทฯ แจ้งว่าสามารถส่งวัคซีนให้ได้ในไตรมาส 4 โดยยอดสั่งซื้อ 20 ล้านโดส เป็นยอดที่บริษัทแจ้งว่าจะสามารถจัดสรรให้ประเทศไทยได้ภายในปีนี้ เพราะวัคซีนยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกมีความต้องการสูง และได้พยายามเจรจาเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากที่สุด
ส่วนแนวคิดในการฉีดวัคซีนโควิด 3 เข็ม หรือฉีดสลับยี่ห้ออยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการด้านวัคซีน ซึ่ง สธ.พร้อมปฏิบัติตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทดลอง แต่ยืนยันว่าวัคซีนที่ประเทศไทยนำมาใช้มีประสิทธิภาพสูง อย่างซิโนแวก ทำการศึกษาที่ภูเก็ตพบภูมิคุ้มกันสูงถึง 83% เป็นการศึกษาในสถานที่จริง ด้านสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ยังไม่มีวัคซีนชนิดไหนครอบคลุม แต่วัคซีนยังช่วยลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้ โดยขณะนี้มีวัคซีนทยอยจัดส่งและจัดสรรออกไปทุกสัปดาห์ ปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนได้แล้ว 8.1 ล้านโดส
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, Moderna, Pfizer, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, องค์การเภสัชกรรม, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19, โมเดอร์นา, ไฟเซอร์