KBANK คงมุมมองเชิงบวกเศรษฐกิจโลกปี 64 ฟื้นได้ดีแนะ 10 กลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลัง

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารและพันธมิตร คือ Lombard Odier ยังคงมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจโลกในปี 64 ยังเติบโตได้ดี ซึ่งเป็นการฟื้นตัวขึ้นจากแรงหนุนของการเร่งฉีดวัคซีน การเดินหน้าเปิดเมือง และนโยบายการเงินและการคลังที่ยังผ่อนคลาย โดยที่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนมากยังบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในแต่ละภาคธุรกิจ และแต่ละภูมิภาคจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน โดยภาคบริการมีแนวโน้มนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง หลังจากที่การค้าและการบริโภคฟื้นตัวได้ดีก่อนหน้านี้ และมีแนวโน้มถึงจุดสูงสุดแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศก็ฟื้นตัวไม่พร้อมกัน โดยจีนได้ฟื้นตัวนำหน้าไปแล้วเมื่อปีก่อน ตามมาด้วยสหรัฐฯในปัจจุบัน และยุโรปที่กำลังจะเติบโตตามมา ส่วนประเทศเกิดใหม่จะฟื้นตัวในลำดับถัดไปหลังจากยุโรป

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวสูงสุดในไตรมาส 3/64 ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้คาดว่าจะเริ่มขยับขึ้นเข้าใกล้ก่อนเกิดโควิด-19

สำหรับภาพรวมการลงทุนในปีนี้จะมีความแตกต่างจากปีก่อน หลังจากที่เศรษฐกิจในประเทศขนาดใหญ่ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ทิศทางของการฟื้นตัวของสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงไม่ได้เป็นลักษณะ V Shape แบบในช่วงที่ผ่านมาแล้ว แต่จะเป็นการปรับตัวขึ้นแบบขรุขระที่ต้องเผชิญกับหลุมบ่อระหว่างทาง จากภาพของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มาแล้วในช่วง 1 ปี ทำให้ต้องมีการปรับมุมมองในการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์

“ท่ามกลางสภาวะตลาดปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังการเปิดเมือง ธนาคารยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งยังคงเน้นการลงทุนหุ้นในธีม Winner of New Economy, Health is Wealth, Save the World และ Laggard and Cyclical Upturns ที่ล้วนมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะ รวมไปถึงความสามารถในการคัดเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลก จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว”นายจิรวัฒน์ กล่าว

นางสาวศิริพร สุวรรณการ Managing Director – Private Banking Financial Advisory Head ของ KBANK กล่าว แม้เศรษฐกิจทั่วโลกทยอยฟื้นตัว แต่ความเสี่ยงบางอย่างยังคงมีอยู่ โดยความเสี่ยงที่สำคัญยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากทั่วโลกได้รับวัคซีนช้าเท่าไหร่ เชื้อก็ยิ่งมีโอกาสกลายพันธ์สูงขึ้นเท่านั้น และอีกหนึ่งความความเสี่ยง คือ เศรษฐกิจที่เติบโตจนร้อนแรงเกินไป ทำให้ต้องถอนมาตรการทางการคลังและการเงินเร็วเกินกว่าที่ตลาดคาด หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณออกมา และความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่กดดันตลาดในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมองว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากเป็นกาดีดตัวกลับของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในปีก่อนที่ได้รับแรงกดดันจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ได้แก่ ราคาน้ำมัน ราคาทองแดง และราคาเหล็ก เป็นต้น แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้น แต่ธนาคารยังคงมองว่าโลกจะอยู่ในยุคของเงินเฟ้อต่ำ เนื่องจากหลังจากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆเริ่มเปิดได้มากขึ้น และกลับมาทำการค้าขายระหว่างประเทศ จะทำให้มีซัพพลายต่างๆออกมาเพิ่มขึ้น ความขาดแคลนสินค้าต่างๆจะเริ่มลดลง และราคาสินค้าต่างๆจะเริ่มกลับเข้าสู่จุดสมดุล

ด้านความกังวลจากการที่เฟดเริ่มผ่อนคลายนโยบายและถอนสภาพคล่อง โดยในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด หรือ FOMC ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯในปี 65 และ 66 เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นการปรับให้สอดคล้องกับมุมมองของตลาดเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญจากการประชุม ได้แก่ การคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งภายในปี 2566 และการเริ่มหารือเกี่ยวกับการลดการซื้อสินทรัพย์แล้ว

โดยที่จะต้องติดตามการประชุม FOMC อีกครั้งในช่วงเดือนส.ค. 64 ซึ่งเป็นการประชุมที่ Jackson Hole จะเริ่มเห็นภาพไทม์ไลนืชัดเจนขึ้นของการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) ลงในช่วงปี 65 คาดว่าเฟดจะลด QE ลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน และ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 2 ครั้งภายในปี 66 ไม่ได้เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังมีความน่าสนใจอยู่ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังนี้

นายตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director – Private Banking Business Head ของ KBANK กล่าวว่า จากมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ ธนาคารแนะนำ 10 กลยุทธ์การลงทุนสำหรับช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 ได้แก่

  • การลงทุนต่อเนื่องในสินทรัพย์เสี่ยง (Stay invested in risky assets) จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีในปีนี้ จะช่วยหนุนกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียงชั่วคราวจะยังหนุนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นให้ไปต่อได้
  • การลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักร และกลุ่มหุ้นพื้นฐานยั่งยืน ที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว (Capture the recovery with cyclical and value stocks) หลังจากปัจจุบันหุ้นในกลุ่มที่เติบโตนั้นถูกซื้อขายที่ราคาสูงกว่าหุ้นพื้นฐานยั่งยืนอยู่มาก และแนวโน้มผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น จะเป็นแรงหนุนให้กับหุ้นพื้นฐานยั่งยืนมากกว่าหุ้นกลุ่มเติบโต
  • การลงทุนในหุ้นยุโรป ซึ่งกำลังจะพลิกกลับมาเติบโตอย่างโดเด่น เพราะหุ้นยุโรป และหุ้นอังกฤษ มีระดับมูลค่าที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และมีศักยภาพการเติบโตของกำไรสูง
  • แนวโน้มผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะปรับเพิ่มขึ้น โดยประเมินผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ 2% ณ สิ้นปี 64 และ 2.5% ในช่วงปลายปี 65 สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯ
  • การลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอ โดยเฉพาะตราสารหนี้ของจีน เพราะโดยเฉลี่ยตราสารหนี้จีนให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีอายุเท่ากันถึง 1.5% และตราสารหนี้จีนจะได้ประโยชน์จากทิศทางเงินหยวนที่แข็งค่าอีกด้วย
  • คงมุมมองบวกต่อค่าเงินหยวน และหาจังหวะเข้าซื้อค่าเงินยูโร ซึ่งธนาคารคาดว่าเงินหยวนจะแข็งค่าสู่ระดับ 6.22 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี หนุนโดยส่งออกและดุลการชำระเงินที่แข็งแกร่ง ขณะที่ค่าเงินยูโรจะแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ยูโร ภายในสิ้นปีนี้
  • คงมุมมองว่าดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่าลงได้อีก ซึ่งจากข้อมูลในอดีตพบว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะอ่อนค่ากว่ามูลค่าที่เหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี ดังเช่นในปัจจุบัน
  • แนะนำหลีกเลี่ยงลงทุนราคาทองคำ หลังจากราคามีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยที่ทองคำจะถูกกดดันจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง โดยที่ธนาคารคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ 64 ราคาทองคำจะลดลงมาแตะที่ระดับ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์
  • การมองหุ้นโครงสร้างพื้นฐานให้ผลตอบแทนโดดเด่น ซึ่งมีแรงหนุนจากแผนการฟื้นฟูของสหรัฐฯ และยุโรปที่พุ่งเป้าไปยังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ทำให้ธนาคารคาดว่าราคาหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานจะสามารถปรับขึ้นได้ดี หนุนโดยกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าต่อเนื่อง
  • การลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะเป็นกุญแจสำคัญของพอร์ตแห่งอนาคต โดยเฉพาะบริษัทที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน จากการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เช่น บริษัทน้ำมันที่เปลี่ยนธุรกิจ ไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือระบบโซลาร์เซลล์แทน โดยในระยะยาว บริษัทเหล่านี้ถือเป็นผู้นำเทรนด์เศรษฐกิจในโลกอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสและคว้าผลตอบแทนเพิ่มเติมในยุคเปิดเมือง ธนาคารยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ทั้งหุ้นนอกตลาด และกองรีท ไปจนถึงกลยุทธ์การลงทุนแบบ Hedge Fund หรือ Structured Notes ที่จะช่วยแสวงหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในช่วงตลาดที่หลากหลาย และมีความผันผวนสูง

การมองหาหุ้นกู้เอกชนในจีน เนื่องจากดอกเบี้ยในฝั่งประเทศเกิดใหม่ยังน่าสนใจกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และตลาดหุ้นกู้จีนก็มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการลงทุนในหุ้นกู้จีนในบริษัทที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดีคาดว่าจะช่วงพยุงพอร์ตโดยรวมได้ดี โดยการคัดสรรหุ้นกู้คุณภาพมีความสำคัญ ในทางกลับกันก็ให้ลดน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะจะได้รับผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรขาขึ้นที่จะทำให้ราคาปรับลง รวมถึงอัตราผลตอบแทนก็ต่ำมาก อาจไม่สามารถชดเชยกับแนวโน้มราคาที่ปรับลงได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top