แบงก์ชาติญี่ปุ่นเห็นพ้องมาตรการฟื้นฟูทั่วโลกช่วยหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวเร็วขึ้น

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนเม.ย.ในวันนี้ระบุว่า กรรมการบริหารของ BOJ มีความเห็นตรงกันว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ที่บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วได้นำมาใช้นั้น อาจทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดร็ว

การแสดงมุมมองที่แข็งแกร่งต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในครั้งนี้ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ อาจจะคงนโยบายการเงินที่ระดับปัจจุบันต่อไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง โดยคาดหวังว่านโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษและโครงการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่ง BOJ นำมาใช้อยู่ในขณะนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวในระดับปานกลางอย่างยั่งยืน

“มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับขนาดและผลลัพธ์ของโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งอาจจะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้นำมาใช้นั้น จะช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นและทั่วโลกมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว” รายงานการประชุม BOJ ระบุ

รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการ 1 ใน 9 คนของ BOJ กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงหนุนอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดบรรเทาลง

ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการ BOJ มีมติคงนโยบายการเงิน ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0%

นอกจากนี้ BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2564 ขึ้นสู่ระดับ 4% จากระดับ 3.9%

อย่างไรก็ดี BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ลงสู่ระดับ 0.1% จากระดับ 0.5% โดย BOJ ยอมรับว่าอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในช่วงที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ

ทางด้านนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมวันดังกล่าวว่า เป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ที่ระดับ 2% ถือเป็นเป้าหมายที่สูงมาก แต่นายคุโรดะเชื่อมั่นว่า BOJ จะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

“เมื่อพิจารณาจากโมเดลของเราแล้ว เราพบว่า การปรับลดค่าธรรมเนียมโทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวลงราว 0.5% – 1% แต่หากไม่นำปัจจัยดังกล่าวมาพิจารณาแล้ว ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของเราจะสูงขึ้น เราจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มศักยภาพเพื่อผลักดันเงินเฟ้อให้บรรลุเป้าหมายที่ระดับ 2% ผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เพราะเป้าหมายของเราคือการทำให้ราคาสินค้าผู้บริโภคมีเสถียรภาพ”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top