ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 มิ.ย. 64 กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงมีจำกัด และเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงอย่างมากจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังคงไม่แน่นอน แม้ว่าการปูพรมฉีดวัคซีนจะทำให้อัตราที่เร่งขึ้นถึง 2-3 เท่าตัวจากเดือนก่อนๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนอันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด มาตรการภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้
ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับแรงกดดันจากเงินเฟ้อคงจะยังมีจำกัด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อไทยเร่งตัวขึ้นในเดือนเม.ย.และพ.ค. 64 ถึง 3.4% และ 2.4% YoY ตามลำดับ โดยถูกขับเคลื่อนจากราคาพลังงาน และราคาอาหารสดบางชนิด ประกอบกับฐานที่ต่ำเป็นหลัก
เมื่อมองไปข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นบวก แต่คาดว่าจะทยอยปรับลดลงในครึ่งหลังของปีนี้สอดคล้องกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อโลก โดยในการประชุมครั้งนี้จะแถลงประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่า กนง.จะยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 ไว้ที่เติบโตราว 1.5-2% สอดคล้องกับคาดการณ์ในรายงาน กนง.เดือนพ.ค.64 มองว่าหากในปีนี้สามารถฉีดวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดสตามแผนการเดิม เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 1.5% แต่หากสามารถเร่งฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดส เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2%
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงมุ่งเน้นการใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับลักษณะปัญหาเพื่อลดภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งยังอยู่ในวิสัยทัศน์ที่สามารถทำได้ โดยคาดว่า ธปท.จะเลือกที่จะใช้มาตรการเฉพาะจุดมากกว่าการใช้มาตรการทั่วไปอย่างการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจยังไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบันและธปท.จะต้องการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามเศรษฐกิจแย่ลง ท่ามกลางความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีจำกัด
นอกจากนี้หากลดดอกเบี้ยในภาวะที่เงินเฟ้อขาขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าที่คาด ทำให้เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่มีแรงกดดันให้ต้องเพิ่มดอกเบี้ยจะมีต้นทุนที่สูง โดยนโยบายการเงินของเฟดที่เปลี่ยนไปในทิศทางเข้มงวดมากขึ้นจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อธปท.ในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)
Tags: กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, หนี้ครัวเรือน, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เงินเฟ้อ, เฟด, เศรษฐกิจไทย