- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 221,306 คน (+3,175)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 2,089 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 901 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 140 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 45 ราย
- รักษาหายแล้ว 185,789 คน (+2,030)
- รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 33,859 คน (+1,116)
- เสียชีวิตสะสม 1,658 คน (+29)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,175 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,089 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 901 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 140 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 45 ราย โดยยังคงพบการเดินทางเข้ามาแบบผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางธรรมชาติผ่านจังหวัดจันทบุรี สระแก้ว ตาก
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 29 ราย เพศชาย 13 เพศหญิง 16 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร 17 ราย สมุทรปราการ 6 ราย ปทุมธานี 2 ราย สระบุรี นครราชสีมา นราธิวาส และสงขลา จังหวัดละ 1 ราย โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไต และโรคปอด
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 221,306 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 185,789 ราย เพิ่มขึ้น 2,030 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,658 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า กรุงเทพฯ ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด จำนวน 624 ราย และมีการพบคลัสเตอร์ใหม่ที่โรงงานทำลูกชิ้น ที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ย่านวงเวียน 22 มีผู้ติดเชื้อ 26 ราย และยังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติม, สมุทรปราการ 544 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ที่คอนโดมิเนียม ต.บางเมือง อ.เมือง/เขตอุตสาหกรรมบางปู อ.เมือง/บริษัทระบบน้ำการเกษตร อ.พระสมุทรเจดีย์ พบผู้ป่วยรายใหม่ 20 ราย, นครปฐม 359 ราย โดยพบผู้ป่วยในคลัสเตอร์ใหม่ที่โรงงานเสื้อผ้า, ชลบุรี 187 ราย, สมุทรสาคร 179 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ที่ โรงงานสิ่งทอ, ปทุมธานี 165 ราย, นนทบุรี 117 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ที่บริษัทก่อสร้าง, ปัตตานี 84 ราย, ยะลา 74 ราย, สงขลา 61 ราย
นอกจากนี้ ยังพบคลัสเตอร์ใหม่ ในจ.สระบุรี ที่โรงเรียนตำรวจ อ.เมือง พบผู้ป่วยรายใหม่ 16 ราย, จ.ระยอง ที่ฟาร์มเห็ด อ.แกลง พบผู้ป่วยรายใหม่ 11 ราย และฉะเชิงเทรา ที่บริษัทเชื่อมโลหะ พบผู้ป่วยรายใหม่ 8 ราย
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่โรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา นั้น พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้รายงานต่อที่ประชุม EOC เช้าวันนี้ว่า ในชุมชนมัรกัส เปาะยานี ซึ่งมีโรงเรียนและสถานที่ประกอบสถานกิจ โดยพบรายงานผู้ติดเชื้อแล้ว 402 ราย แพร่กระจายไป 11 จังหวัด ประกอบด้วย นราธิวาส 111 ราย ยะลา 102 ราย สตูล 46 ราย ปัตตานี 46 ราย สงขลา 36 ราย กระบี่ 18 ราย พัทลุง 13 ราย นครศรีธรรมราช 10 ราย สุราษฎร์ธานี 9 ราย พังงา 5 ราย ตรัง 3 ราย ภูเก็ต 3 ราย
คลัสเตอร์นี้มีการพบผู้ติดเชื้อรายแรก 9 มิ.ย. แต่เมื่อสอบสวนโรคไป กลับพบว่า ผู้ติดเชื้อคนแรกน่าจะมีตั้งแต่ 29 พ.ค. แต่ในขณะนั้นยังไม่กลายเป็นคลัสเตอร์ และในชุมชนมัรกัส มีประชากร 3,000-4,000 คน ในจำนวนนี้ เป็นนักเรียนประมาณ 500 คน และนักเรียนมาจาก 17 จังหวัด ซึ่งกรมสอบสวนโรครายงานไทม์ไลน์ ว่า เป็นการรวมกลุ่ม รับประทานอาหารร่วมกัน ร่วมกันทำกิจกรรมทางศาสนา ไม่สวมหน้ากากผ้า ใช้ถาดอาหารและแก้วน้ำร่วมกัน
ส่วนการจัดการในพื้นที่ ได้มีปิดโรงเรียนและพื้นที่เสี่ยง มีการสอบสวนโรคและมีการค้นหาเชิงรุกในชุมชน เพื่อสัมผัสผู้เสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ และทางพื้นที่ออกประกาศผู้สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือคนในชุมชน ให้มารายงานกับเจ้าหน้าที่สาธารสุข หรือฝ่ายปกครองในชุมชน เพื่อตรวจหาเชื้อและรับคำแนะนำในการเฝ้าระวัง และประสานไปยังทุกจังหวัดให้มีการเฝ้าระวังสอบสวนโรค
นอกจากนี้ ที่ประชุมศบค. ได้มีการหารือกรณีโรงเรียนที่ปิดตัวลง ทั้งในพิษณุโลกและมหาสารคาม นอกเหนือจากที่ยะลาแล้ว ได้มีการทบทวนมาตราการปิดโรงเรียน ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือกันว่า การพิจารณาสั่งปิดโรงเรียนทางโรงเรียนต้องมีการหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนทำการปิด และต้องมีมาตรการและระบบดูแล และทำความเข้าใจเด็ก ผู้ปกครอง และจังหวัดปลายทางที่จะนักเรียนจะเดินทางกลับบ้าน
ซึ่งกรมควบคุมโรคได้มีข้อเสนอว่า กรณีที่ปิดโรงเรียน และเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด ต้องให้ผู้ที่สัมผัสเสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงสูง อยู่บ้านกักตัว ไม่อนุญาตรวมกลุ่มกับญาติ หรือเข้าไปในตลาด ชุมชน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย แจ้งไปยังจังหวัดต้นทาง ปลายทางแล้ว
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกรกฏาคม ซึ่งจะมีวันหยุดอีดิ้ว อัฏฮา ซึ่งอาจจะมีการจัดเลี้ยง หรือเดินทางข้ามจังหวัด ทางจุฬาราชมนตรี ขอให้ติดตามประกาศของจังหวัดในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือประชาชน ให้ช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อ อย่าอคติ กีดกันทางสังคม และทางกรมควบคุมโรครายงานว่า การติดตามทางจังหวัดภาคใต้ ได้มีการติดตามค้นหาเชื้อกลายพันธุ์ด้วย
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงกรณีที่สถานบริการหรือสถานบันเทิงได้ยื่นเรื่องให้มีการผ่อนคลายมาตรการ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางศบค.ได้รับเรื่อง แต่ก็เห็นใจ ซึ่งถ้ามีลูกค้าเข้าไปสถานบริการ และเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเหตุให้การควบคุมตัวเองแย่ลง ลดการ์ดลง และอาจเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จึงฝากผู้ประกอบการให้เสนอมาว่า จะมีมาตรการดูแลลูกค้าอย่างไรให้สามารถปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างเข้มงวด
พร้อมกับเน้นย้ำ กิจกรรมรวมกลุ่ม ทั้งการสังสรรค์ ในครอบครัวหรือที่ทำงาน ที่อาจเป็นคนรู้จักใกล้ชิด ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายโดยไม่ระวังตัว และการเคลื่อนย้ายคนของแรงงาน หรือเคลื่อนย้ายไปสังสรรค์พักผ่อน ซึ่งยังพบรายงานการติดเชื้อกระจายจากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่ง โดยขอให้ทุกคนมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดด้วย นอกจากนี้ ที่ศบค.เป็นห่วงการรองรับระบบสาธารณสุข ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์มีโยกมาจากต่างจังหวัด แต่บุคลากรอาจมีความอ่อนล้า ถ้าผู้ติดเชื้อไม่ลดลงอาจส่งผลให้บุคลากรสาธารณสุขมีความตึงเครียดได้
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 179,252,416 ราย เสียชีวิต 3,882,008 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,406,001 ราย อันดับสอง อินเดีย 29,934,361 ราย อันดับสาม บราซิล 17,927,928 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,757,311 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,370,299 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 77
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19, โควิดวันนี้