นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ เวลา 13.30 น.พรรคฯ จะนัดประชุม ส.ส.เพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลสำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22-24 มิ.ย.64 ที่จะให้ ส.ส.ของพรรคนำไปอภิปรายในที่ประชุม
โดยวาระสำคัญในวันที่ 22 มิ.ย.จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยประชามติ ซึ่งพรรคฯ ได้พูดคุยจนตกผลึกแล้ว คาดว่า ส.ส.ทุกคนมีความพร้อมที่จะร่วมกันผลักดันกฎหมายประชามติให้ผ่านในการประชุมรัฐสภาต่อไป
ส่วนการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 มิ.ย.พรรคฯ ได้ร่วมลงชื่อกับพรรคร่วมรัฐบาลรวมทั้งหมด 8 ร่าง ดังนั้นจึงต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลในการอภิปราย รวมถึงร่างอื่นที่มีความสอดคล้องกับหลักการของพรรคด้วย
โฆษก ปชป.กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกคนอย่าตั้งหลักว่าจะไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญสักฉบับ อย่าตั้งหลักว่าไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฟังรายละเอียดสาระสำคัญในวาระรับหลักการ วาระที่ 1 ขอให้ฟังเสียงของตัวแทนพี่น้องประชาชนก่อนว่าประชาชนได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้ไขส่วนใดบ้าง เมื่อรับรู้ข้อมูลครบถ้วนตรงตามความเป็นจริงแล้วก็เชื่อว่าจะเปลี่ยนใจสมาชิกรัฐสภาให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
สำหรับรายละเอียดสาระสำคัญของทั้ง 6 ร่างที่พรรคได้ยื่นไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนามีดังนี้
ร่างที่ 1 เกี่ยวกับสิทธิของประชาชน ประกอบด้วย
มาตรา 29 ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม รายละเอียดของการประกันตัว รายละเอียดของการต่อสู้คดี เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และปี 50 มีรายละเอียดอยู่มาก แต่รัฐธรรมนูญปี 60 เหลือเพียง 2 มาตรา จึงต้องดึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนกลับคืนมา
มาตรา 43 เรื่องสิทธิชุมชนของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นหลักในการปกป้องสิทธิของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 ได้ตัดสาระสำคัญในส่วนนี้ออกไปมากพอสมควร
มาตรา 46 เรื่องสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 มีการระบุรายละเอียดไว้มากพอที่จะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนได้ แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ได้ตัดส่วนนี้ออกไป จึงต้องแก้ไขเพื่อเพิ่มสิทธิของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการปกป้องสิทธิในฐานะเป็นผู้บริโภคให้มากขึ้น
มาตรา 72 เป็นมาตราที่พรรคประชาธิปัตย์คิดเพื่อวางหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน โดยมีการแก้ไขเพื่อกำหนดให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ซึ่งจะต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
“ทุกคนอาจจะบอกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นักการเมืองพยายามแก้ไขเฉพาะโครงสร้างทางการเมือง แก้ไขเฉพาะที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง เรื่องการเข้าสู่อำนาจ ไม่ใช่หรอกครับ ร่างที่เราได้ยื่นต่อประธานรัฐสภาเป็นร่างที่ 1 เป็นร่างที่เกี่ยวกับสิทธิของพี่น้องประชาชน เพื่อดึงเอาสิทธิต่างๆ ของพี่น้องประชาชนกลับคืนมา…จากการลงพื้นที่ของบุคลากรพรรคทั่วประเทศ ประชาชนกำลังเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นมาตรา 72 เราจึงจะแก้ไขในเรื่องการกำหนดหลักประกันขั้นพื้นฐานให้พี่น้องประชาชนในการกระจายที่ดินทำกิน และรัฐจะต้องจัดสรรให้เกษตรกรในเรื่องน้ำอย่างเหมาะสมและพอเพียงด้วย” นายราเมศ กล่าว
ร่างที่ 2 เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ซึ่งเสนอให้แก้ไข 2 มาตรา
มาตรา 83 ที่กำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ดังนั้นเมื่อมีจำนวน ส.ส.เขต 400 คน และมีจำนวนพื้นที่มากขึ้นจะทำให้การดูแลประชาชนได้ทั่วถึง และตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชน
มาตรา 91 การคำนวณสัดส่วนของผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองจะได้มีสิทธิ์ในการได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งร่างของ ปชป.เปิดกว้างให้มีการพูดคุย และหากจะมีการคำนวณสัดส่วนคะแนนก็จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ร่างที่ 3 เกี่ยวกับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเสนอให้แก้ไขมาตรา 159 โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทำได้ 2 กรณี 1.บุคคลที่พรรคการเมืองได้ยื่นเป็นบัญชีของพรรคว่าบุคคลใดสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี กรณีที่ 2 ผู้ถูกเสนอชื่อในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ จะต้องเป็น ส.ส.
ยกเลิกมาตรา 272 ในเรื่องอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี
ร่างที่ 4 แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้นกว่าฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากในวาระที่ 1 ต้องมี ส.ส.เห็นชอบจำนวน 1 ใน 3 (84 คน) และในวาระ 3 ก็กำหนดเงื่อนไขว่า ส.ว.ต้องเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวน 1 ใน 3 (84 คน) ดังนั้นการแก้ไขมาตรานี้ก็จะเป็นการตัดเงื่อนไขจากที่มีการกำหนดจำนวน ส.ส.และ ส.ว.เป็นจำนวนบังคับที่จะต้องให้ความเห็นชอบในวาระ 1 และวาระ 3 ออกไป โดยจะเสนอให้แก้ไขเป็นการใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ซึ่ง ส.ว.ก็ยังสามารถมีส่วนร่วมในการเติมเต็มในคะแนนเสียง 2 ใน 3 นี้ได้อยู่
ร่างที่ 5 เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต ประกอบด้วย มาตรา 236 และมาตรา 237 คือเรื่องการกำหนดให้มีการดำเนินคดีกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดว่าการดำเนินคดีต่อ ป.ป.ช.นั้นให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา แล้วให้ประธานรัฐสภาพิจารณาตัดสินใจก่อนว่าจะเห็นสมควรยื่นต่อศาลฎีกาหรือไม่ ในเรื่องนี้มีความจำเป็นต้องแก้ไข 2 มาตราดังกล่าว เพื่อให้ประธานรัฐสภาเป็นคนกลางส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ
“หากไม่แก้ไขกรณีนี้ วันหนึ่งหากประธานรัฐสภาไม่ใช่ชื่อ ชวน หลีกภัยแล้ว เราจะมีหลักประกันให้พี่น้องประชาชนได้อย่างไร อาจจะมีการต่อรองคดีกันว่าถ้าเกิดว่า ส.ส.มายื่นดำเนินคดีกับ ป.ป.ช.แล้ว ประธานรัฐสภาบอกว่าคุณต้องยกคำร้องใน ป.ป.ช.ที่เป็นนักการเมืองพรรคเดียวกับผมก่อน เพราะประธานรัฐสภาก็มาจากพรรคการเมือง เราต้องการแก้ไขให้มีการตรวจสอบการทุจริตเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ถ่วงดุลอย่างแท้จริง จะไม่มีการฮั้วคดีกัน หรือต่อรองในทางคดีเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง” นายราเมศ กล่าว
ร่างที่ 6 เกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นในมาตรา 76/1 มาตรา 76/2 และมาตรา 251 มาตรา 252 มาตรา 253 และมาตรา 254 ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 ให้อำนาจท้องถิ่นลดน้อยถอยลงจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมามากพอสมควร เริ่มตั้งแต่สาระสำคัญ โดยระบุว่าการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มีการระบุเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า หรือวิธีการอื่น จึงจำเป็นต้องแก้ไขในส่วนนี้ว่า การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นจะต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดในเรื่องการกำหนดหลักประกันขั้นพื้นฐานให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจในกิจการได้เองอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเศรษฐกิจ และสาธารณูปโภคต่างๆ เมื่อมีการตั้งหลักในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็จะต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ อย่างน้อยต้องมีการกำหนดไว้เป็นสาระสำคัญเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 64)
Tags: พรรคประชาธิปัตย์, ราเมศ รัตนะเชวง, แก้รัฐธรรมนูญ, แก้ไขรัฐธรรมนูญ