นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแผนการจัดสรร และแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19
โดยได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัด สำหรับเดือนก.ค.64 ดังนี้
- มีเป้าหมายให้บริการวัคซีน 10 ล้านโดสในเดือนก.ค.64
- พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่จองวัคซีนล่วงหน้าในระบบหมอพร้อม ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง
- พิจารณาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างน้อย 5 ล้านโดส ภายในเดือนก.ค.64
- พิจารณาให้ภูเก็ต ได้รับวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อย 70% ภายในเดือนก.ค.64
พร้อมกันนี้ ได้พิจารณาแบ่งเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนทั้ง 10 ล้านโดส เดือน ก.ค.64 ในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
1. พื้นที่สีแดง 5 จังหวัด : เป็นจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, นนทบุรี และปทุมธานี รวมถึงจังหวัดที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต
ในกลุ่มนี้ จะได้รับการจัดสรรวัคซีนที่สัดส่วน 30% แบ่งเป็น
- กรุงเทพฯ (รวมที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) และประกันสังคม) ได้รับ 2.5 ล้านโดส
- นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ได้รับ 6 แสนโดน
- ภูเก็ต ได้รับ 2 แสนโดส
2. พื้นที่สีส้ม 23 จังหวัด : เป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือมีความเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานกาณณ์ภายหลังการระบาด ได้แก่ เชียงราย ตาก หนองคาย สระแก้ว ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) พังงา และกระบี่
ในกลุ่มนี้ จะได้รับการจัดสรรวัคซีนที่สัดส่วน 25% รวม 2.5 ล้านโดส
3. พื้นที่สีเขียว 49 จังหวัดที่เหลือ จะได้รับการจัดสรรวัคซีนที่สัดส่วน 35% รวม 3.5 ล้านโดส (เฉลี่ยจังหวัดละ 7 หมื่นโดส)
4. อื่นๆ ได้แก่ หน่วยฉีดส่วนกลาง องค์กรภาครัฐ และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด ได้รับการจัดสรรวัคซีนที่สัดส่วน 10% รวม 1 ล้านโดส
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศบค. ยังได้เห็นชอบแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 150 ล้านโดส ของประเทศไทย โดยได้เพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนจาก 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 2565 ซึ่งวัคซีนที่จัดหาเพิ่มเติมนี้ เพื่อรองรับกรณีที่ต้องเพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน, การเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย, การให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค หรือกรณีอื่นใดที่ต้องมีการใช้วัคซีนเพิ่ม
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการจัดหา หรือดำเนินการเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส ประกอบด้วย แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส, ซิโนแวก 19.5 ล้านโดส, ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส, จอนห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส ดังนั้นประเทศไทยต้องเตรียมงบประมาณจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส โดยให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนในส่วนที่เพิ่มขึ้น 50 ล้านโดส คือ วัคซีนซิโนแวก อีกประมาณ 28 ล้านโดส และวัคซีนอื่นๆ อีกประมาณ 22 ล้านโดส ทั้งนี้ ขึ้นกับผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน และสถานการณ์ของเชื้อกลายพันธุ์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19