นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า ได้กำชับให้ ทย.เตรียมความพร้อมท่าอากาศยานให้สอดคล้องกับแผนเปิดประเทศของรัฐบาลในเดือน ต.ค.64 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาประเทศไทย เนื่องจากมีความมั่นใจในระบบสาธารณสุขและ มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของไทย โดยขณะนี้ ทย.อยู่ระหว่างปรับปรุงขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานหลายแห่งทั้งเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น และรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งท่าอากาศยานหลักที่รับนักท่องเที่ยว เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี อุดรธานี เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2564 ซึ่งได้รับประมาณ 5,186.9 ล้านบาท โดยปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ประมาณ 24% ขณะที่ในเดือน มิ.ย.จะมีการลงนามสัญญาโครงการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยาน 4 แห่ง วงเงินรวม 4,050 ล้านบาท (งบผูกพัน) ซึ่งจะเพิ่มการเบิกจ่ายงบได้อีก 15% รวมเป็น 40% ได้แก่ โครงการก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ก่อสร้างทางขับขนานพร้อมระบบไฟฟ้า ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี วงเงิน 800 ล้านบาท ,โครงการก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่ง ท่าอากาศยานตรัง จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร วงเงิน 1,800 ล้านบาท, โครงการขยายความยาวทางวิ่ง ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร วงเงิน 950 ล้านบาท, โครงการขยายลานจอดอากาศยาน ท่าอากาศยานขอนแก่น วงเงิน 500 ล้านบาท
สำหรับท่าอากาศยานเบตงให้ ทย.ดำเนินการความพร้อมในการเปิดใช้ภายใน 30 วัน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการดำเนินงาน จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรม ทย. กล่าวว่า ได้รับนโยบายในการเร่งพัฒนาท่าอากาศยานเพิ่มขีดความสามารถแล้ว รมช.คมนาคม ยังได้สั่งการให้ ทย.ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ในการบินข้ามภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นเขตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวของจังหวัดทางอีสานใต้ “นครชัยบุรินทร์” ซึ่งประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งขณะนี้ มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา
รวมไปถึงการส่งเสริมเส้นทางบินข้ามภาค เช่น นครราชสีมา-เชียงใหม่ นคราราชสีมา-กระบี่ นครราชสีมา -สุราษฎร์ธานี เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมา มีศักยภาพทั้งสถานีท่องเที่ยวและเป็นเมืองใหญ่ และการบินข้ามภาคยังช่วยลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอีกด้วย
นายอภิรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มมีสายการบินต่างประเทศ แจ้งการบินเข้ามาในช่วงตารางบินฤดูหนาว (Winter TPI) ช่วงเดือนต.ค.64-มี.ค.65 เข้ามายังท่าอากาศยานกระบี่ 64 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ซึ่งเป็นสายการบินเดิมที่เคยทำการบินเข้ามาที่กระบี่ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด ส่วนใหญ่เป็นสายการบินจีน เช่น สปริง แอร์ไลน์, แอร์เอเชียเบอร์ฮัด (มาเลเซีย), ไทเกอร์ แอร์เวย์ (สิงคโปร์) ทั้งนี้ จะต้องดูความพร้อมในด้านสาธารรณสุขของประเทศต้นทางของแต่ละสายการบินด้วยว่าจะสามารถทำการบินได้จริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ทย.มีแผนดำเนินโครงการในปี 2565 ได้แก่
1.การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานกาฬสินธุ์และมุกดาหาร ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการจัดทำแผนแม่บท MR-MAP พัฒนามอเตอร์เวย์สอดคล้องโครงข่ายรถไฟทางคู่รถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ
ในส่วนของโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ได้จัดการประชุมรับฟังคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีการขนส่งทางอากาศ กรมท่าอากาศยานจึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ ในการก่อสร้างท่าอากาศยานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกต่อประชาชน โดยหลังจากนี้จะดำเนินการเกี่ยวกับงานสำรวจออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำแบบรายละเอียดเบื้องต้น รวมถึงงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อจัดการประชุมกลุ่มย่อยในระดับพื้นที่ตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับท่าอากาศยานมุกดาหาร ในตอนนี้ได้การจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ รวมถึงศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณ 42.6926 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 เพื่อดำเนินการต่อไป โดยทั้งสองโครงการจะช่วยพัฒนาเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
2.การจ้างออกแบบและขยายท่าอากาศยานระนองและชุมพร ตามการศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Land bridge) เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรและระนอง
โดยแผนพัฒนาท่าอากาศยานระนองจะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างขยายท่าอากาศยาน พร้อมศึกษารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขยายท่าอากาศยาน อาคารที่พักผู้โดยสารและส่วนประกอบอื่น ๆ วงเงินงบประมาณ 17.1692 ล้านบาท
แผนพัฒนาท่าอากาศยานชุมพรจะดำเนินการจ้างออกแบบขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่น ๆ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงินงบประมาณ 48.2500 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2565
3.การจัดพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับ OTOP และวิสาหกิจชุมชนภายในท่าอากาศยาน ตามนโยบายการตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP ในพื้นที่สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ และท่าอากาศยาน โดยเน้นความเป็น “ท่าอากาศยานของชุมชน” การดำเนินงานจะเน้นการมีส่วนในการร่วมพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ ในด้านของการจัดให้มีพื้นที่สำหรับจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP เป็นการเสริมเศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้ได้จัดสรรพื้นที่สำหรับโครงการนี้แล้วในท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบิน โดยจะประสานความร่วมมือกับจังหวัดเพื่อจัดหา ชนิดสินค้าที่หลากหลาย และผู้ประกอบการที่สนใจมาดำเนินการต่อไป
4.โครงการ Green Airport ท่าอากาศยานระนองและน่านนคร ตามนโยบายในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยกรมท่าอากาศยานจะนำท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเสริมศักยภาพกิจการของสนามบินให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของท่าอากาศยาน ก่อนที่คณะกรรมการโครงการจะเข้าประเมินตามขั้นตอนของโครงการต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 64)
Tags: กรมท่าอากาศยาน, กระทรวงคมนาคม, การเบิกจ่ายงบลงทุน, ท่าอากาศยาน, นครชัยบุรินทร์, นักท่องเที่ยว, วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล, สนามบิน, อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย