นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) โดยระบุว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน และกรรมการเฟดจะยังคงหารือกันในเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าจะเห็น “ความคืบหน้าที่ยั่งยืน” ซึ่งหมายถึงตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
“ในการประชุมอีกหลายครั้งข้างหน้านี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) จะยังคงประเมินความคืบหน้าทางเศรษฐกิจว่ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวสู่เป้าหมายของเฟดหรือไม่” นายพาวเวลกล่าว
นายพาวเวลได้แถลงกับผู้สื่อข่าวอย่างชัดเจนว่า เฟดจะสื่อสารกับตลาดและสาธารณชนให้รับรู้ก่อนที่เฟดจะดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายในวันข้างหน้า
“เราจะส่งสัญญาณให้ตลาดได้รับรู้ล่วงหน้า ก่อนที่จะประกาศการตัดสินใจปรับเปลี่ยนโครงการซื้อสินทรัพย์ของเรา” นายพาวเวลกล่าว
ในการประชุมครั้งนี้ เฟดได้เปิดเผยรายงาน dot-plot ซึ่งระบุว่า กรรมการเฟด 13 ใน 18 รายคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566 โดยนายพาวเวลได้อธิบายเรื่องนี้ว่า “นั่นเป็นการคาดการณ์ของกรรมการเฟดรายบุคคล ไม่ใช่การคาดการณ์ของคณะกรรมการ FOMC เรายังไม่ได้อภิปรายกันอย่างจริงจังว่าควรจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด เพราะการอภิปรายเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าที่สูงเกินไป ซึ่งเราไม่มีเหตุผลที่จะทำเช่นนั้น”
นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการเฟดไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ในแง่ของเครื่องมือด้านนโบายนั้น การซื้อสินทรัพย์ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ
“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องของอนาคต เรายังคงอยู่ห่างไกลจากการมีตัวเลขจ้างงานที่ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งนั่นคือเงื่อนไขที่เราจะพิจารณาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต” นายพาวเวลกล่าว
นอกจากนี้ นายพาวเวลยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ โดยกล่าวว่า “อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าการคาดการณ์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าสิ่งผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อนั้น จะเป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 64)
Tags: Fed, ธนาคารกลางสหรัฐ, นโยบายการเงิน, พันธบัตร, อัตราดอกเบี้ย, เจอโรม พาวเวล, เฟด