สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 8.537 ล้านบาร์เรล ในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 11 มิ.ย.
การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล แพลทส์ คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะลดลง 4.2 บาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 มิ.ย.
ส่วนในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น API ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 2.108 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ EIA รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 5.2 ล้านบาร์เรล
สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 1.24 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 72.12 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2561 โดยได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่หลายประเทศมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนแหล่งข่าวทางการทูตซึ่งระบุว่า การเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ยังคงไม่มีความคืบหน้า โดยข่าวดังกล่าวช่วยคลายความวิตกของนักลงทุนที่กังวลว่า การบรรลุข้อตกลงระหว่างสหรัฐและอิหร่านจะทำให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง
นายรัสเซลล์ ฮาร์ดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Vitol คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในช่วง 70 – 80 ดอลลลาร์ในปีนี้ อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัส จะยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงด้านการผลิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 64)
Tags: API, ราคาน้ำมันดิบ, สต็อกน้ำมันดิบ, สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา