บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ (STGT) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทมีกรอบจำกัดอยู่ที่ระดับไม่เกินกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือ บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) (ได้รับอันดับเครดิต “A-/Stable” จากทริสเรทติ้ง) เนื่องจากบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA
ในการนี้ ทริสเรทติ้งพิจารณาให้อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัท (Stand-alone Credit Profile) อยู่ที่ระดับ “a” ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตของรายได้และการมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง รวมถึงการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตถุงมือยางของโลกซึ่งมีฐานลูกค้าที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาค พร้อมทั้งมีตัวชี้วัดเครดิตที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเป็นมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะความเป็นวงจรขึ้นลงและแปรปรวนของราคาต้นทุนวัตถุดิบ รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีความผันผวน และการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- มีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีฐานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA ซึ่งหมายความว่าอันดับเครดิตของบริษัทนั้นอยู่ในระดับเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ สถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งของบริษัททั้งสองในฐานะบริษัทแม่และบริษัทลูก โดย STA ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 56.1%
นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแม่ยังมีอิทธิพลครอบงำกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ความสำคัญของบริษัท ที่มีต่อบริษัทแม่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วนถึง 83% ของกำไรก่อนภาษีของทั้งกลุ่มบริษัทในปี 2563 อีกด้วยเช่นกัน
การพิจารณาสถานะในการเป็นบริษัทย่อยหลักนั้นยังมองไปถึงบูรณาการทางธุรกิจระหว่างบริษัทและบริษัทแม่ที่อยู่ในระดับสูงด้วย ทั้งนี้ STA มีสัญญาในการจัดหาน้ำยางข้นธรรมชาติให้แก่บริษัท ซึ่งทำให้บริษัทมีความมั่นคงในการจัดหาน้ำยางข้นธรรมชาติ นอกจากนี้ STA ยังจัดหาไม้สับเพื่อสนับสนุนการผลิตถุงมือยางและการดำเนินงานของบริษัทอีกด้วย ในขณะเดียวกัน บริษัททั้งสองก็มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในหลาย ๆ ด้านซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการขนส่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีความร่วมมือกับบริษัทแม่ในด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือยางและนวัตกรรมใหม่ ๆ อีกด้วย
- อุปสงค์ที่แข็งแกร่งในธุรกิจถุงมือยาง ทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มธุรกิจถุงมือยางจะยังคงมีความแข็งแกร่งต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จากรายงานของสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางของประเทศมาเลเซีย (Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association — MARGMA) ประมาณการว่าอุปสงค์ถุงมือยางทั่วโลกในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็น 420 พันล้านชิ้นต่อปีจาก 212 พันล้านชิ้นในปี 2561 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 15% โดยอุปสงค์ถุงมือยางทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากอุปสงค์ของธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งในทวีปยุโรปและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่เติบโตขึ้นเป็นหลัก
ทั้งนี้ คาดว่าอุปสงค์ในการใช้ถุงมือยางทั่วโลกจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อันเกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยังคงดำรงอยู่
ในปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลทำให้อุปสงค์ถุงมือยางทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้ ยอดขายถุงมือยางของบริษัทในปี 2563 เติบโตสูงขึ้นถึง 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 2.8 หมื่นล้านชิ้น
บริษัทมียอดคำสั่งซื้อสำหรับการผลิตถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางสังเคราะห์ล้นไปจนถึงกลางปี 2565 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ตามลำดับ ในการนี้ บริษัทวางแผนจะขยายกำลังการผลิตถุงมือยางให้เป็น 3.6 หมื่นล้านชิ้นในปี 2564 และ 5 หมื่นล้านชิ้นในปี 2565 จาก 3.3 หมื่นล้านชิ้นในปี 2563
- เป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดผู้ขายน้อยราย ทำเลยุทธศาสตร์คืออุปสรรคสำคัญสำหรับผู้แข่งขันรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดถุงมือยาง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมาเลเซียและไทยนั้นเป็นศูนย์กลางสำคัญของการผลิตถุงมือยางของโลกซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 85% มีบริษัทน้อยรายที่จะสามารถผลิตถุงมือยางที่ได้คุณภาพในทางการแพทย์เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงมาก อีกทั้งยังต้องมีใบอนุญาตและได้รับใบรับรองตามมาตรฐานสากลที่มีอย่างหลากหลายเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดในการดำเนินธุรกิจประเภทนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการถุงมือยางทุกรายที่ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมต่างก็กำลังขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ที่กำลังเติบโตทั่วโลกและเพื่อรักษาสถานะทางการตลาดของตนเอง
- ผลการดำเนินงานทางการเงินปรับตัวดีขึ้น รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ระหว่าง 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ระดับ 9% ในระหว่างปี 2560-2562 และเติบโตที่ระดับ 3.1 หมื่นล้านบาทในปี 2563 หรือคิดเป็น 154% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หลังจากนั้นยังเติบโตถึง 1.6 หมื่นล้านบาทในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ซึ่งเกิดจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
อัตรากำไรขั้นต้น (รวมกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) ของบริษัทเติบโตอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 55.3% ในปี 2563 และ 74% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 7.1%-12% ในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางทุกประเภทที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงจากการประหยัดต่อขนาดในการผลิตถุงมือยาง และเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลให้บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่จำนวน 215-982 ล้านบาทในระหว่างปี 2560-2562
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบจากโรคโควิด-19 จะยังคงมีอย่างต่อเนื่องต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2564 จะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปโดยอยู่ที่ระดับ 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 37% ในปี 2565 ก่อนที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงที่ระดับ 1% ในปี 2566 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะขึ้นถึงระดับ 46% ในปี 2564 และจะคงอยู่ในระดับสูงระหว่าง 18%-21% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งทำให้คาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 47% ในปี 2564 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 22%-26% ในช่วงปี 2565-2566
- โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนรวมของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2563 อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมากเนื่องจากบริษัทได้รับรายได้สุทธิจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ในการนี้ บริษัทตั้งใจที่จะนำรายได้จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาทไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในระหว่างปี 2563-2569 ส่วนรายได้ที่เหลือจำนวน 2.3 พันล้านบาทนั้นบริษัทจะนำไปใช้ชำระหนี้เงินกู้และอีก 1.2 พันล้านบาทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง
ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินลงทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.3-3.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2561-2563 ในอนาคตคาดว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินลงทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.4 พันล้านบาทถึง 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้า
- สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 0.8-1.4 พันล้านบาท ต่อปีในระหว่างปี 2564-2566 ในการนี้ ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานพื้นฐานสำหรับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.5 พันล้านบาทถึง 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปี โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3 หมื่นล้านบาทและยังมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกกว่า 5 พันล้านบาท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่า 200% ในระหว่างปี 2564-2566 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็จะปรับตัวดีขึ้นเป็นระดับ 100 เท่าในปี 2564 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 34% ในระหว่างปี 2565-2566
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้รวมของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 48% ในปี 2564 และจะลดลงเหลือ 37% ในปี 2565 หลังจากนั้นจะเติบโตที่ระดับ 1% ในปี 2566
- อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 47% ในปี 2564 และจะปรับตัวลดลงเหลือ 18%-21% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2566
- ค่าใช้จ่ายดำเนินงานโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 9.1 พันล้านบาทถึง 1.1หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565 และ 4.4 พันล้านบาทในปี 2566
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของ STA ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมถุงมือยางเอาไว้ได้โดยที่บริษัทจะสามารถบริหารความเสี่ยงทั้งที่เกิดจากราคายางธรรมชาติและยางสังเคราะห์รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างระมัดระวัง อีกทั้งยังคงรักษาสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ได้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยหลักของ STA จะยังคงอยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคตข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับอันดับเครดิตของ STA แม้ว่าอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาเสถียรภาพในการสร้างกระแสเงินสดและความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในขณะที่ยังคงรักษางบดุลให้แข็งแรงต่อไปได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานก็ตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 64)
Tags: STGT, ทริสเรทติ้ง, ศรีตรังโกลฟส์, หุ้นไทย, อันดับเครดิต