สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ระบุว่า หากได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ และแอสตร้าเซนเนก้าครบทั้ง 2 โดสแล้ว จะสามารถลดโอกาสของอาการป่วยหนักจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดียได้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า ควรเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ครบทั้ง 2 โดสโดยเร็วที่สุด
PHE เปิดเผยผลการวิเคราะห์เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) ว่า วัคซีนของไฟเซอร์-บิออนเทค มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการป่วยหนักได้ถึง 96% หลังจากได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดสแล้ว ขณะที่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมีประสิทธิภาพ 92% อีกทั้งยังสามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟาซึ่งพบครั้งแรกในอังกฤษได้ดีเช่นเดียวกัน
แมรี แรมซีย์ หัวหน้าฝ่ายภูมิคุ้มกันโรคของ PHE กล่าวว่า วัคซีนถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการต่อสู้กับโควิด-19 ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โดสโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันสูงสุดต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดิม ตลอดจนสายพันธุ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่
ผลการศึกษาในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า วัคซีนของทั้ง 2 บริษัทมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการของไวรัสสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 33% หลังได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้ว 3 สัปดาห์ แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์จะอยู่ที่ 88% หากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ไปแล้ว 2 สัปดาห์ ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 60%
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ถึงระดับการป้องกันการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับสายพันธุ์อื่นๆ โดยการวิเคราะห์ประเมินจากผู้ป่วยกว่า 14,000 รายที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า และมี 166 รายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระหว่างวันที่ 12 เม.ย. ถึง 4 มิ.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, Pfizer, ฉีดวัคซีน, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, อังกฤษ, อินเดีย, แมรี แรมซีย์, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์เดลตา, ไฟเซอร์, ไฟเซอร์ อิงค์, ไฟเซอร์-บิออนเทค