พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2564 พิจารณาเห็นว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงหากได้รับเชื้อโควิด-19 จึงควรได้รับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับต้นๆ แต่เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ยังไม่ได้จองเข้ารับการฉีดวัคซีนในระบบหมอพร้อมซึ่งปิดรับการจองไปแล้วนั้น
ที่ประชุมจึงมีมติให้โรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร กองทัพ ตำรวจ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่ร่วมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมกว่า 100 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ เปิดรับจองการเข้ารับการฉีดวัคซีนเฉพาะในส่วนของผู้สูงอายุ และให้จัดลำดับก่อน-หลัง ตามวัน เวลา ที่ยื่นแสดงความประสงค์รับการฉีดวัคซีน ส่วนกำหนดเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้น โรงพยาบาลจะเป็นผู้นัดหมายและแจ้งให้ผู้แสดงความประสงค์ทราบต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนฯ มีมติเห็นชอบให้จัดลำดับความสำคัญของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในรอบระยะเดือน มิ.ย. 64 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีน AstraZeneca เนื่องจากสถานการณ์วัคซีนของประเทศไทย ที่ได้รับจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนคลาดเคลื่อนจากที่คาดหมาย ส่งผลให้กรุงเทพมหานครได้รับจัดสรรวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
โดยมีลำดับ ดังนี้
- ผู้ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 1
- ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ซึ่งได้จองรับวัคซีนในโรงพยาบาลต่างๆ และโรงพยาบาลได้นำรายชื่อเข้าสู่ระบบ MOPH -IC เรียบร้อยแล้ว
- บุคลากรทางการแพทย์ที่เหลือตกค้าง ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
- ประชาชนทั่วไปจองเข้ารับการฉีดวัคซีนที่หน่วยความร่วมมือฯ ทั้ง 25หน่วย ตามโครงการไทยร่วมใจ “กรุงเทพฯ ปลอดภัย” ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, กทม., กรุงเทพมหานคร, กองทัพ, ตำรวจ, ผู้สูงอายุ, มหาวิทยาลัย, วัคซีนต้านโควิด-19, หมอพร้อม, โควิด-19, โรงพยาบาล, โรงพยาบาลเอกชน, โสภณ พิสุทธิวงษ์