นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ว่า ตนเองได้โทรศัพท์หารือเรื่องดังกล่าวกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว โดยจากนี้ไปต่างฝ่ายต้องเดินหน้าทำงาน
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้รับคำสั่งเรื่องการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ผ่านทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ไม่ใช่เกิดจากการตัดสินใจของกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานเดียว
ส่วนแผนการกระจายวัคซีนในเดือน มิ.ย.นี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังคงแผนเดิม เมื่อส่งวัคซีนไปแล้วเป็นเรื่องของแต่ละพื้นที่ที่ต้องจัดสรรกระจายวัคซีน เมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ขอให้จัดสรรการให้บริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมระบุว่า จากนี้ขอให้หน่วยงานในพื้นที่อธิบายข้อเท็จจริงให้ประชาชนเข้าใจ รวมถึงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กรณีหากมีเหตุฉุกเฉินที่กระทบต่อประชาชน กระทรวงสาธารณสุขคงใช้ดุลยพินิจเข้าไปแก้ไข ยกตัวอย่าง การมอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรคไปตรวจชื่อรายชื่อ “หมอพร้อม”ใน 2 กลุ่ม คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนใน กทม.ไว้ว่ามีกี่คน พบปัญหาไม่ได้รับบริการกี่คน ทางกระทรวงสาธารณสุขจะรับมาฉีดเอง เช่น ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร รพ.ราชวิถี รพ.ศรีธัญญา เป็นต้น
ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลหรือศูนย์ฉีดวัคซีนมีปัญหาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ขอให้ปรึกษากับทางจังหวัดก่อน เช่น พื้นที่ กทม. ปรึกษากับสำนักอนามัย กทม.เป็นต้น อย่าเพิ่งโพสต์ข้อความเลื่อนการฉีดหรือระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่จัดส่งวัคซีนให้ เพราะเป็นข้อความที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเราจัดส่งให้จังหวัดไปแล้ว และทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกคิดว่าวัคซีนขาด ทั้งที่ความจริงวัคซีนไม่ได้ขาด
สำหรับเดือนมิถุนายนอาจมีวัคซีนเข้ามาฉีดประชาชนถึง 9 ล้านโดส ได้แก่ วัคซีนที่ยกยอดมาจากเดือนพฤษภาคม 2 ล้านโดส, วัคซีนที่รัฐบาลจีนบริจาค 5 แสนโดส, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรก 2 ล้านโดส, วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตหลัง 1.5 ล้านโดส, วัคซีนซิโนแวกที่ได้รับเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวกที่จะเข้ามาอีก 2 ล้านโดส ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายแผนที่วางไว้ว่าจะฉีดให้ได้ 6 ล้านโดส โดยเมื่อได้วัคซีนมาก็จะกระจายออกไปทันที
นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการฉีดให้กับผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง ในเดือนมิถุนายน โดยจัดสรรให้กทม. 1 ล้านโดส ซึ่งครอบคลุม 2 กลุ่มนี้ ที่ลงทะเบียนนัดฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม อย่างไรก็ตาม เมื่อ ศบค.ประกาศชะลอการนัดผ่านระบบหมอพร้อม และกทม.มีระบบนัดหมายของตัวเองผ่านไทยร่วมใจ อาจเกิดความผิดพลาดเรื่องการบันทึกข้อมูลย้ายรายชื่อ วันเวลานัดของกลุ่มหมอพร้อมไปยังไทยร่วมใจ
ซึ่งหาก กทม.ยังไม่สามารถจัดบริการฉีดให้กลุ่มนี้ได้ กระทรวงสาธารณสุขจะเก็บตกกลุ่มที่ถูกเลื่อนนัดฉีดในเดือนมิถุนายน ให้ทยอยมาฉีดวัคซีนในจุดฉีดของกระทรวงสาธารณสุขแทน เช่น ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันโรคทรวงอก เป็นต้น ซึ่งการฉีดวัคซีนมีทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวกตามการเข้ามาของวัคซีน นอกจากนี้ ทาง กทม.จะมีการปรับแผนการกระจายและการฉีดวัคซีนใหม่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนเพื่อการฉีดวัคซีนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, กทม., กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19