นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 20 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 351 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 743 คน รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
“เดือนพ.ค.64 มีต่างชาติได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 33% แต่มีเงินลงทุนลดลง 89% จากเม.ย.64 เนื่องจากเดือนเม.ย. มีการอนุญาตธุรกิจบริหารรับค้ำประกันหนี้ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงกว่า 2,900 ล้านบาท”
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบ การติดตั้ง การบริหารจัดการ และการบำรุงรักษาระบบควบคุมการจัดการจราจร องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการบริหารจัดการระบบรางรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลวิศวกรรม องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) สำหรับช่วยทำงานแบบอัตโนมัติ เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างชาติได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 8 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 121 ล้านบาท อาทิ บริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำหรับการวิเคราะห์และประเมินสภาพเพื่อทำการซ่อมแซมบำรุงรักษารถจักรยานยนต์แก่ตัวแทนจำหน่าย (dealer) ในประเทศไทย, บริการขายต่อบริการโทรคมนาคมเพื่อภายในประเทศ ประเภทบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน ระดับ Medium ตามที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช., บริการให้ใช้ระบบประมวลผลข้อมูลการติดตามตัวรถและการใช้รถ เป็นต้น
2. ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีกสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม/ค้าส่งสินค้า จำนวน 5 ราย เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และจีน เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 66 ล้านบาท อาทิ การทำกิจการนายหน้าประกันวินาศภัยประเภทการจัดให้มีการประกันภัยโดยตรง ตามที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), การค้าส่งสินค้าประเภทเครื่องสวมฉลาก (Sleeve labeling machine) ซึ่งออกแบบและพัฒนา หรือผลิตโดยบริษัทในเครือในต่างประเทศ รวมทั้ง การให้เช่า และบำรุงรักษาซ่อมแซมเครื่องดังกล่าว, การค้าปลีกเครื่องหยั่งทดสอบชั้นดินในสนาม สำหรับการจำแนกประเภทของดิน (Sounding Test Machine-Geokarte) และเครื่องขันสกรูอัตโนมัติ (Screw Driving Robot) ที่ผลิตโดยบริษัทในเครือในประเทศญี่ปุ่น รวมถึง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับเครื่องฯ ดังกล่าว เป็นต้น
3. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ จำนวน 4 ราย เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฝรั่งเศส เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 78 ล้านบาท อาทิ บริการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือในต่างประเทศตามที่ระบุชื่อ, บริการพัฒนา Application & Software รวมถึง การให้ใช้สิทธิการใช้งาน Application สำหรับการบริการให้เช่า ให้เช่าซื้อ และขายรถยนต์ และ Software สำหรับช่วยเหลือการทำงานด้านการสืบค้นข้อมูล การบันทึกข้อมูล การจัดทำรายงานและการบริหารจัดการข้อมูลบนระบบคอมพิวเตอร์แบบอัตโนมัติ เป็นต้น
4. ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 3 ราย เป็นนักลงทุนจากไต้หวัน และเยอรมนี เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 86 ล้านบาท ได้แก่ บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งระบบชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง และระบบควบคุมการจัดการจราจร ภายใต้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง, บริการทางวิศวกรรมในการเป็นที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบและให้คำปรึกษาแนะนำ ภายใต้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา)
นายทศพล กล่าวว่า สำหรับเดือนพฤษภาคม 2564 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป รองลงมาเป็นธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีกสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม/ค้าส่งสินค้า ธุรกิจการให้บริการแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม และธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน ตามลำดับ
ส่วนใหญ่เป็นการประกอบธุรกิจเพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักที่ทำอยู่แล้ว จำนวน 11 ราย คิดเป็น 55% ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาตทั้งหมดของเดือนนี้
ทั้งนี้ เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 มีนักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาตฯ รวม 95 ราย เงินลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 8,311 ล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย, ธุรกิจบริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งระบบชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง และระบบควบคุมการจัดการจราจร ภายใต้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 64)
Tags: AI, IT, Software, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ทศพล ทังสุบุตร, ปัญญาประดิษฐ์, ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ, โปรแกรมคอมพิวเตอร์