ดาวโจนส์ปิดบวก 13.36 จุด บอนด์ยีลด์ลดหนุนหุ้นเทคโนโลยี

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (11 มิ.ย.) และดัชนี S&P500 ปิดที่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ลดลงซึ่งช่วยหนุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น แม้นักลงทุนยังคงกังวลกับการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐก็ตาม

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,479.60 จุด เพิ่มขึ้น 13.36 จุด หรือ +0.039%
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,247.44 จุด เพิ่มขึ้น 8.26 จุด หรือ +0.19%
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,069.42 จุด เพิ่มขึ้น 49.09 จุด หรือ +0.35%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.8%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 0.4% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 1.9%

หุ้น 8 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก โดยหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้น 0.61% และ 0.56% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ลดลงมากที่สุด 0.73%

หุ้นแมคโดนัลด์ ปรับตัวขึ้น 1% แม้เปิดเผยว่ากลุ่มแฮกเกอร์ได้ทำการขโมยข้อมูลจากระบบของบริษัทในหลายตลาดรวมถึงในสหรัฐ, เกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งนับเป็นบริษัทรายใหญ่ล่าสุดระดับโลกที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์

หุ้น meme stock ยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยหุ้น AMC พุ่งขึ้น 15.4% และหุ้น GameStop พุ่ง 5.9%

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันศุกร์ ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คุมเข้มนโยบายการเงินเร็วกว่าคาด

การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นแรงหนุนต่อตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกลุ่มอื่นๆ ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนในวันศุกร์ ขณะที่นักลงทุนไม่สนใจตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในสหรัฐ โดย ณ เวลา 23.59 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.455% หลังจากดิ่งลงแตะระดับ 1.43% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.143%

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 86.4 ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 84.0 จากระดับ 82.9 ในเดือนพ.ค.

ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในสหรัฐ และมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจและการจ้างงาน

บรรดานักลงทุนจะจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า โดยคาดว่าเฟดจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกินคาดเมื่อวันพฤหัสบดีก็ตาม

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงรักษาจุดยืนในการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในการประชุมวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้ โดยเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และจะยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 64)

Tags: , , ,
Back to Top